การประชุมสมัชชาบิช็อปคาทอลิก (ซีน็อต)
เป็นเวลา 3 ปีที่การประชุมสมัชชาบิช็อปคาทอลิก (ซีน็อต) ว่าด้วยการเป็นศาสนจักรที่เดินไปด้วยกัน ได้ถูกจัดขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 2021 ถึงตอนนี้ การประชุมจบลงอย่างเป็นทางการแล้ว
เอกสารบทสรุปการประชุมความยาว 53 หน้าและมี 155 ข้อ ได้รับการอนุมัติและเผยแพร่ทันที และนี่คือสรุปใจความสำคัญที่ผมเรียบเรียงมาให้ทุกท่าน
- บทบาทสตรีในศาสนจักร และเรื่อง “สังฆานุกรสตรี”
- ต้องปรับปรุงการฝึกอบรมผู้ที่เตรียมบวชเป็นบาทหลวง
- ฆราวาสต้องมีส่วนร่วมในการ “เลือกบิช็อป”
- บิช็อปและผู้อภิบาล “มีหน้าที่ต้องรับฟัง”
- ความโปร่งใสทางการเงิน ความรับผิดชอบ และการประเมินผล
1) บทบาทสตรีในศาสนจักร และเรื่อง “สังฆานุกรสตรี”
บทบาทการอภิบาลและการเป็นผู้นำของสตรีในศาสนจักรเป็นประเด็นสำคัญที่ครอบงำกระบวนการประชุมสมัชชาตั้งแต่เริ่มต้นในปี 2021
แม้ว่าพระสันตะปาปาจะตรัสว่าข้อเสนอในการฟื้นฟูตำแหน่งสังฆานุกรสตรียัง “ไม่พร้อม” และต้องพิจารณาเพิ่มเติม แต่เอกสารฉบับสุดท้ายประกาศว่าประเด็นนี้ยังเป็นคำถามที่เปิดกว้าง
เอกสารฉบับสุดท้ายระบุต่อไปว่า “สตรียังคงพบอุปสรรคในการได้รับการยอมรับที่มากขึ้น…ในทุกด้านของชีวิตศาสนจักร”
ย่อหน้าที่ได้รับคะแนนเสียงคัดค้านมากที่สุดคือย่อหน้าหลักที่กล่าวถึงความเป็นไปได้ของสังฆานุกรสตรี แม้ว่าทั้ง 155 ข้อของเอกสารจะได้รับคะแนนเสียงสองในสามตามที่ต้องการสำหรับการอนุมัติ แต่ส่วนที่เกี่ยวกับสังฆานุกรสตรีได้รับคะแนนเสียงคัดค้าน 97 เสียงจากสมาชิกผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน 355 คนที่อยู่ในห้องประชุมสมัชชาในวาติกัน
2) ต้องปรับปรุงการฝึกอบรมผู้ที่เตรียมบวชเป็นบาทหลวง
การประชุมเรียกร้องให้มีการปรับปรุงแนวทางปัจจุบันเกี่ยวกับวิธีการอบรมและฝึกฝนคนที่เตรียมตัวบวชเป็นบาทหลวง และเอกสารเรียกร้องให้มี “การมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญของสตรี” ในสามเณราลัยคาทอลิก
3) ฆราวาสต้องมีส่วนร่วมในการ “เลือกบิช็อป”
ในแง่ของการตัดสินใจ เอกสารเรียกร้องอย่างหนักแน่นให้ประชากรของพระเจ้ามี “เสียงที่มากขึ้นในการเลือกบิช็อป” (ข้อ 70)
4) บิช็อปและผู้อภิบาล “มีหน้าที่ต้องรับฟัง”
การเรียกร้องให้รับฟังและมีส่วนร่วมเป็นศูนย์กลางของเอกสาร บิช็อปและผู้อภิบาลคือผู้ที่ถูกเรียกร้องอย่างหนักแน่นที่สุด ครั้งแล้วครั้งเล่า ให้รับฟังเสียงของสัตบุรุษในเขตศาสนปกครองและวัดของพวกเขา
“ผู้มีอำนาจมีหน้าที่ตามกฎหมายปัจจุบันในหลายกรณีที่ต้องจัดให้มีการปรึกษาหารือก่อนการตัดสินใจ ผู้มีอำนาจอภิบาลมีหน้าที่ต้องรับฟังผู้ที่มีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือและไม่สามารถกระทำราวกับว่าการปรึกษาหารือไม่ได้เกิดขึ้น ดังนั้น ผู้มีอำนาจจะไม่ละทิ้งผลของการปรึกษาหารือที่นำไปสู่ข้อตกลงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรซึ่งต้องได้รับการอธิบายอย่างเหมาะสม…” (ข้อ 91)
ในระดับวัดเช่นกัน ศาสนจักรได้รับการสนับสนุนให้รับฟังทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่รู้สึกว่าถูกกีดกัน การประชุมสมัชชาแนะนำให้วัดพิจารณาจัดตั้ง “งานอภิบาลด้านการรับฟังและการติดตาม”
5) ความโปร่งใสทางการเงิน ความรับผิดชอบ และการประเมินผล
เอกสารยังเรียกร้องอย่างหนักแน่นให้มีความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และการประเมินผลในทุกระดับของศาสนจักร เป็นวิธีเชิญชวนสัตบุรุษให้เห็น ตัดสิน และเข้าใจว่าผู้อภิบาลของพวกเขาทำงานอย่างไร (ข้อ 95)
นอกจากนี้ การประชุมกล่าวถึงการมีส่วนร่วมของฆราวาสในการวางแผนอภิบาลและการเงิน การจัดทำรายงานประจำปีที่ผ่านการตรวจสอบทั้งในเรื่องการเงินและนโยบายการปกป้องคุ้มครอง และการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ทำงานอภิบาลและงานอภิบาลทุกประเภท