ของพระศาสนจักร
ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรคาทอลิกเราอย่างหนึ่ง ก็คือ การเคารพบรรดามรณสักขี เรื่องนี้เกี่ยวข้อความเชื่อตอนหนึ่งที่ว่า “ความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวของผู้ศักดิ์สิทธิ์” และทางลัดของการเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์คือ “การเป็นมรณสักขี” กล่าวคือ การยอมสละชีวิตเพื่อความเชื่อ…
{besps}documents/frdenarticle/article36{/besps}
ในหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะในเอเชีย มีมรณสักขีมากมาย ทั้งที่ประกาศเป็นทางการแล้วและยังไม่ได้ประกาศ พระศาสนจักรสนับสนุนการเคารพผู้ศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะผู้ที่ตายเพราะความเชื่อเป็น “มรณสักขี” ซึ่งถือเป็นวีรกรรมสูงสุดของชีวิตคริสตชน เพราะถ้า “ชีวิต” มีค่าสูงสุด และเสียสละชีวิตเพื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สิ่งนั้นย่อมมีค่ามากกว่าชีวิต และบรรดามรณสักขีก็ได้ยืนยัน “ความเชื่อ” เหล่านั้น นั่นคือ ความเชื่อของพระศาสนจักรที่คริสตชนได้ประกาศ
ในทุกปีจะมีวันแพร่ธรรม ส่วนใหญ่ตกในเดือนตุลาคม ซึ่งช่วยกระตุ้นเตือนพระศาสนจักร ได้ตระหนักถึงงานประกาศพระวรสาร ในเดือนตุลาคม ปีหน้านี้ (2019) พระสันตะปาปาประกาศล่วงหน้าว่า ให้เป็นเดือนแห่งการกระตุ้นจิตตารมณ์ธรรมทูตทั้งเดือน ไม่ใช่แค่วันเดียว ทำให้องค์กรต่าง ๆ ของพระศาสนจักร สภาพระสังฆราชทั่วโลกเริ่มเตรียมกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อตอบรับในเรื่องนี้
ทางสมณองค์กรเพื่องานธรรมทูตของสันตะสำนัก (PMS) ได้เตรียมเรื่องนี้ โดยจัดสัมมนาเชิงศึกษาเกี่ยวกับ “มรณสักขีในเอเชีย” (Martyrs in Asia) โดยเชิญตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ มาร่วมสัมมนา โดยก่อนมาให้เตรียมเรื่องราวของมรณสักขีในประเทศของตน โดยแบ่งเป็นหัวข้อสองส่วนคือ ส่วนแรกนำเสนอชีวิตของบรรดามรณสักขี ชีวิตและคุณธรรมต่าง ๆ ส่วนที่สองนำเสนอการไตร่ตรองในแง่เทววิทยา คือ ชีวิตของพวกเขาที่มีอิทธิพลต่อพระศาสนจักร สังคม ในประเทศนั้น ๆ ซึ่งจุดนี้ทำให้เห็นว่า ชีวิตและวีรกรรมของบรรดามรณสักขีช่วยกระตุ้นชีวิตชีวาให้กับพระศาสนจักรได้อย่างไร
การสัมมนาจัดที่ศูนย์นานาชาติเพื่อการส่งเสริมกิจกรรมธรรมทูต (CIAM) อยู่ภายในมหาวิทยาลัยอูรบาเนียนา กรุงโรม มีตัวแทนจากหลายชาติเข้าร่วมจากเอเชีย แต่ที่น่าแปลกใจว่า ผู้มาสัมมนาส่วนใหญ่ไม่ใช่คนในชาตินั้น อย่างผม มาในนามประเทศกัมพูชา คพ.คลาวดิโอ แบร์ตุกโช (OMI) มาในนามประเทศไทย คพ.โรลองซ์ จากค์ (OMI) ชาวฝรั่งเศส มาในนามประเทศลาว คุณไซมอน ฆราวาสชาวอังกฤษ มาในนามประเทศญี่ปุ่น คุณพ่อชาวเวียดนามแต่มาจากปารีส ยกเว้นเกาหลีประเทศเดียวที่มาจากเกาหลี จึงน่าสังเกตว่าพระศาสนจักรเรามีความช่วยเหลือกันและกัน พระพรของพระจิตเจ้าที่แต่ละคนมี สำหรับการทำงานเรื่องนี้จากประเทศที่แตกต่างกัน
บรรดามรณสักขีในประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่เกิดจากผู้ปกครองในสมัยนั้นเบียดเบียน อย่างเช่นที่ญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นประเทศที่มีมรณสักขี (ที่ประกาศแต่งตั้งแล้ว) มากที่สุดในเอเชีย คือ 436 คน ส่วนที่เวียดนามมีนักบุญมรณสักขีที่ประกาศแล้ว 117 คน แต่ที่ถูกเบียดเบียนตายโดยไม่มีเอกสารข้อมูลนับเป็นแสนคน ประเทศไทยเรานำเสนอมรณสักขีทั้ง 8 คน โดยเฉพาะวีรกรรมที่สองคอน และ คพ.นิโคลัส บุญเกิด ในเอเชียกลาง เพิ่งประกาศไม่นานมานี้ คือ พระสงฆ์องค์หนึ่งในประเทศคาซัคสถาน เป็นระดับบุญราศีเช่นเดียวกับไทยและลาว มรณสักขีที่ลาว เพิ่งเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นไม่นาน (1950-1970) และน้องใหม่ที่สุดที่กำลังดำเนินเรื่องมรณสักขีอยู่คือ จากประเทศกัมพูชา
งานของพวกเราส่วนใหญ่นำเสนอถึงผลที่เกิดขึ้นจากมรณสักขีที่เวียดนามและที่เกาหลี จำนวนคาทอลิกเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตัวอย่างของบรรดามรณสักขี กระตุ้นคริสตชนในยุคปัจจุบัน ให้ดำรงชีวิตในความเชื่ออย่างมั่นคง ปัญหาท้าทายที่พระศาสนจักรหลายแห่งกำลังประสบ คือ การเบียดเบียนสมัยใหม่ที่ไม่ได้มาฆ่าเราโดยใช้ความรุนแรง แต่เป็นค่านิยมของสังคมใหม่ สังคมแห่งความเห็นแก่ตัว สุขนิยม วัตถุนิยม ที่ค่อยๆ ทำลายความเชื่อของคริสตชนยุคปัจจุบันอย่างเงียบ ๆ นอกจากนี้ การสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างพระศาสนจักรท้องถิ่นกับอำนาจรัฐ ในบางประเทศอยู่ในความสัมพันธ์อันเปราะบางและละเอียดอ่อน บางประเทศมีปัญหาเรื่องศาสนานิยมของรัฐที่พยายามจำกัดหรือบางที่ถึงกับกำจัดคาทอลิกให้หมดไป
อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างและคำภาวนาของบรรดามรณสักขี ยังคงท้าทายความเชื่อของคนรุ่นหลัง ผมได้ยกตัวอย่างของความรักแบบผู้เลี้ยงแกะที่ดีของพระคุณเจ้าชัมมา ซาละ คพ.จำเริน คพ.ซาลึม และ คพ.ลาปัง ซึ่งล้วนแต่ตัดสินใจอยู่ต่อในประเทศกัมพูชา โดยไม่หนีไปนอกประเทศ และอีกหลายคนที่ยอมสละชีวิตเพราะความเชื่อ
ผมมาโรมครั้งนี้ ยังพกเรื่องสำคัญอีกสองสามเรื่อง คือ จดหมายรายงานที่ต้องส่งมอบให้พระคาร์ดินัลฟิโลนี สมณมนตรีกระทรวงประกาศพระวรสารฯ ซึ่งพระคาร์ดินัลก็ยอมเสียสละเวลามาถึงสถานที่สัมมนา และพูดคุยกับผมนิดหน่อย ก่อนจะมอบรายงานจากพระคุณเจ้าโอลีเวียร์ให้กับพระคาร์ดินัล ฯพณฯ ได้ให้กำลังใจบรรดาธรรมทูตที่ทำงานท่ามกลางความหลากหลาย แต่ให้สร้างพระศานจักรของพระคริสต์อย่างเต็มที่
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือ การนำจดหมายเสนอรายชื่อผู้ที่อาจจะเป็นมรณสักขีได้ 14 คน จากเดิม 35 คน ให้ทางกระทรวงประกาศแต่งตั้งนักบุญได้อนุญาตให้ดำเนินเรื่องต่อไปได้ (Nihil Obstat) โดยไม่มีข้อขัดข้องใด ๆ และอีกจดหมายคือไปยังสำนักงานซีโนดพระสังฆราช เกี่ยวกับการเตรียมร่วมประชุมซีโนดในปี 2018 นี้ และผมก็ทำสำเร็จลุล่วงไปทุกอย่าง
แต่งานที่ต้องทำต่อหลังจากนี้ยังมีเรื่องที่ต้องท้าทายอีกมาก โดยเฉพาะในเรื่องกระบวนการแต่งตั้งเป็นมรณสักขีในกัมพูชา ด้วยความจำกัดหลายด้าน ทั้งบุคลากร พยาน และเอกสารต่าง ๆ อย่างเดียวนอกเหนือจากความพยายามของมนุษย์ คือ พระประสงค์ของพระเจ้าที่จะทำให้ชีวิตของมรณสักขี เป็นตัวอย่างและแรงบันดาลใจสำหรับพระศาสนจักรท้องถิ่นที่กัมพูชา
ในระหว่างอยู่โรมไม่กี่วันนี้ ผมได้มีโอกาสได้เยี่ยมบรรดานักศึกษาไทย ซึ่งกำลังหน้าดำคร่ำเครียดกับการสอบปลายภาคอยู่ เราได้แบ่งปันพูดคุยให้กำลังใจกันและกัน และสุดท้ายก่อนกลับได้ไปเยี่ยมคุณพ่อไตรรงค์ มุลตรี นักศึกษาอีกท่านหนึ่งของคณะธรรมทูตไทยที่ไปเรียนที่เมืองปาดัว
บางครั้งเราก็บอกไม่ได้ว่า พระเป็นเจ้าจะวางเราไว้ตรงไหน หรือให้ทำอะไร? สิ่งที่ผมเรียนรู้ คือ การนบนอบต่อความต้องการของพระศาสนจักรท้องถิ่น ผ่านทางผู้ใหญ่ คือ สิ่งที่เราธรรมทูต ต้องทำด้วยความเต็มใจ…