การภาวนาเพื่อกระแสเรียก
ตลอดเดือนที่ผ่านมา คงมีไม่ข่าวใดที่น่ายินดีไปกว่าการที่พระศาสนจักรคาทอลิกกัมพูชา ได้มีพิธีบวชสังฆานุกรใหม่สององค์ คือ บร.มวง รัวะฮฺ มาจากมิสซังพระตะบอง และ บร.พาน โบเร่ย จากมิสซังกัมปงจาม เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2013 บราเดอร์ทั้งสองคนมาจากครอบครัวที่เป็นกัมพูชา มากๆ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี เนื่องจากในกัมพูชาคริสตชนส่วนใหญ่เป็นเวียดนาม จนบางครั้งก็อึดอัดที่จะ บอกว่า พระศาสนจักรคาทอลิกเป็นของคนเขมร อย่างไรก็ตามแต่เราก็พยายามให้มีพระสงฆ์นักบวช พื้นเมืองมากขึ้น ซึ่งนี่ก็เป็นพันธกิจอันดับแรกๆของงานธรรมทูต
เราไม่ได้สังฆานุกรใหม่ในวันเดียว แต่เป็นการลงทุนลงแรง ร่วมมือร่วมใจของผู้เกี่ยวข้องทุกคน ตั้งแต่ระดับผู้ใหญ่ลงมาในหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งในธรรมชาติของธรรมทูตที่นี่ คนทำงาน จะมาจาก คณะนักบวชและคณะแพร่ธรรม ที่หลากหลาย ดังนั้น นี่เป็นอีกความท้าทายหนึ่ง ที่บรรดาพระสงฆ์ และนักบวชตามวัดต่างๆ จะสนับสนุนกระแสเรียก ที่เป็นของพระศาสนจักรท้องถิ่น ซึ่งอีกส่วนหนึ่ง เราก็เคารพการตัดสินใจของเยาวชนเหล่านั้นด้วยว่า พวกเขาจะเลือกกระแสเรียกแบบใดด้วย
แต่สิ่งที่เห็นว่าเป็นการท้าทายคือ การทำอย่างไร ให้มีกระแสเรียกต่อเนื่อง ในมิสซังอื่นๆ ส่วนใหญ่ จะหามาจากเยาวชนที่มีนิสัยติดวัดติดวา ทำงานกับพระสงฆ์และนักบวช บางคนก็มาช่วย เป็นครูคำสอน แต่ก็ไม่ใช่จะหาได้ง่ายๆ ในระดับชาติเรามีกลุ่มส่งเสริมกระแสเรียกที่เรียกว่า “กลุ่มเอมมานูเอล” สำหรับเยาวชนชาย และ“กลุ่มซามูแอล” สำหรับเยาวชนหญิง ซึ่งมีการประชุม กันเกือบทุกเดือน เพื่อรับการอบรมเรื่องนี้ แต่ระดับมิสซัง ที่มิสซังพนมเปญ เมื่อประมาณปี 2008 พ่อมารีโอ ได้พยายามอบรมกระแสเรียกพิเศษในเขตวัดของคุณพ่อ ผมเองก็มี เยาวชนบางคนที่สนใจ กระแสเรียก ผมกับพ่อมารีโอเลยตกลงจะช่วยกันอบรมพวกเขาเป็นพิเศษ ซึ่งส่วนใหญ่กำลังเรียนอยู่ใน ชั้นมัธยมศึกษา พ่อมารีโอเปิดบ้านเล็กในเขตวัดบึงตุมปุน แยกออกจากเด็กที่ได้รับทุนการศึกษา ที่อาศัยในเขตวัด ผมฝากเด็กบางคนไว้ที่นี่(ตอนนี้เข้าบ้านเณรใหญ่แล้ว แต่ยังต้องลุ้นต่อไป) ต่อมาเมื่อผมต้องออกไปเรียนต่างประเทศ พ่อมารีโอ ได้จัดตั้งกลุ่มนี้อย่างเป็นทางการโดยให้ชื่อว่า “กลุ่มมีคาแอล” อาจเปรียบเทียบเหมือนกับบ้านเณรเล็ก แต่แบบไม่เป็นทางการ คือ มุ่งให้พวกเขามี ประสบการณ์การใช้ชีวิตในกลุ่มคริสตชนให้มากขึ้น การออกไปช่วยงานตามวัดรอบๆบ้างในวันหยุด มีภาวนาพระวาจา แต่เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเรียนภาคปกติที่โรงเรียน
มีเณรใหญ่ปัจจุบันสองคนที่ได้ผ่านกลุ่มนี้ ซึ่งแม้จะเป็นความพยายามน้อยนิด แต่ก็เป็นความหวัง แต่เป็นวิธีการที่จะช่วยอบรมกระแสเรียกขั้นพื้นฐานได้ดีพอสมควร ปัจจุบันบ้านเณรใหญ่มีเณรใหญ่ 5 คนเหมือนเดิม เข้าใหม่สองคน ออกไปบวชสังฆานุกรสองคน ทำให้จำนวนมีเท่าเดิม มีสองคน จากมิสซัง พนมเปญ และสามคนจากมิสซังกัมปงจาม ส่วนมิสซังพระตะบอง หลังจากบวชสังฆานุกรใหม่องค์นี้แล้ว ก็จะหายไปอีกอย่างน้อยเจ็ดปี ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่เห็นวี่แววใดๆ
การรณรงค์เรื่องกระแสเรียกในมิสซังพนมเปญ เริ่มมีเป็นรูปธรรมในปี 2012 พระสังฆราช จัดให้มีการภาวนาเพื่อกระแสเรียกตลอดทั้งคืน เดือนละหนึ่งครั้ง โดยเวียนไปตามศูนย์อภิบาลและบ้าน นักบวชต่างๆ ครั้งสุดท้ายของปีนี้ เราจัดที่ศูนย์อภิบาลและแพร่ธรรมนักบุญยอแซฟ ที่พนมเปญ โดยมี มิสซาในเวลาเย็น ต่อด้วยการแห่ศีลมหาสนิท และอัญเชิญไปที่วัดน้อย โดยจัดเวรเฝ้าศีลฯตลอดทั้งคืน จนถึงมิสซาปิดในตอนเช้า หลังจากแห่ศีลฯ เราก็มีเฝ้าศีลฯร่วมกัน จนประมาณสามทุ่ม ซึ่งในระหว่างนี้ ก็จะมีการอธิษฐาน การเงียบภาวนา และการแบ่งปันประสบการณ์ด้านกระแสเรียก โดยครั้งนี้ มีเยาวชน หญิงสามคน จากสองคณะ มาแบ่งปันประสบการณ์กระแสเรียกของตนเอง
ผมขอยกตัวอย่างหนึ่ง คือ สามเณรีชื่อ เสร่ย มม เป็นผู้ฝึกหัดของคณะซาเลเซียนหญิง หรือ คณะมารีองค์อุปถัมภ์ เธอมาจากครอบครัวพุทธ เธอรู้จักซิสเตอร์คณะนี้เพราะการได้มาเรียนในโรงเรียน ดอนบอสโกหญิงที่พนมเปญ เธอรู้สึกประทับใจชีวิตหมู่คณะที่มีซิสเตอร์จากหลายชาติหลายภาษา แต่อยู่ร่วมกันด้วยความรักและความเข้าใจ ซึ่งเธอรู้ว่าไม่ง่าย และประทับใจงานของบรรดาซิสเตอร์ ที่ช่วยเหลือเด็กเยาวชนด้านการอบรม เธอตัดสินใจลำบาก เมื่อได้บอกกับพ่อแม่ว่าจะเข้าไปเรียน เป็นซิสเตอร์ แม่ของเธอไม่เห็นด้วยอย่างมาก จนกระทั่งเธอเรียนจบ แต่ความคิดเรื่องการจะเป็น ซิสเตอร์ ยังคงวนเวียนอยู่ เธอปรึกษาซิสเตอร์และนักบวชหลายท่าน ในระหว่างนั้น เธอเริ่มทำงานแต่ก็ ยังคง ทำงานให้กับองค์กรของซิสเตอร์ และได้ตัดสินใจเข้าเป็นผู้ฝึกหัดของคณะ แต่ก็ยังมีความห่วง ในความ เป็นอยู่ของพ่อแม่
จนเมื่อแม่ของ เธอป่วย และเพื่อนบ้านหาว่าเธอเป็นลูกอกตัญญู ไม่ช่วยเลี้ยงดู พ่อแม่ เธอสับสน มาก เมื่อได้เรียนเตรียมถวายตัวไประยะหนึ่ง เธอจึงตัดสินอยากจะออก และได้คุยกับแม่ของเธออีกครั้ง แต่คราวนี้พระเป็นเจ้าได้ดลใจให้แม่ของเธอเปลี่ยนท่าทีไป แม่เธอรู้ว่าลูกสาวเธอไปดี ไปอยู่ใกล้รับใช้ พระเจ้า แม่บอกเธอว่า ไม่ต้องห่วงเรื่องทางบ้านให้เป็นเรื่องของพ่อแม่ ให้ลูกเลือกทาง ของลูกเถอะ เธอจึงได้ตัดสินใจอยู่ต่อ โดยมีโอกาสไปเยี่ยมท่านบ้าง และอยู่กับท่านผ่านทางคำภาวนา
ปัจจุบันเธอ เรียนในปี สุดท้ายก่อนจะเป็นโนวิชในปีการศึกษาหน้านี้ แม้จะไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเป็น อย่างไร จะมีอุปสรรคอีกหรือหนทางจะราบเรียบ แต่เธอก็สบายใจ ที่จะก้าวหน้าไปแต่ละวันโดย ความช่วยเหลือจากพระเป็นเจ้า ผ่านทางบุคคลรอบข้าง….
ผู้อ่านที่รักครับ กระแสเรียกนี้เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ แต่เราก็จะเห็นว่า ยังมีเยาวชนหรือผู้ใหญ่ บางคน ที่อยู่รอบข้างเราที่กำลังแสวงหาหนทางของตนอยู่ นั่นเป็นหน้าที่ของเราคริสตังทุกคน ที่ต้อง สังเกตและสนับสนุนกระแสเรียกเหล่านี้ ในประเทศเราบางสังฆมณฑลก็มีความก้าวหน้าดี แต่บาง สังฆมณฑลก็น่าเป็นห่วง สำหรับประเทศมิสซังอย่างลาวหรือกัมพูชา มันเป็นเรื่องท้าทายมาก เพราะ ท่ามกลางคริสตัง พวกเรามีตัวเลือกไม่เยอะ…แต่ธรรมทูตอย่างเรา ก็จะทำทุกอย่างเพื่อให้พันธกิจนี้ ให้เกิดผลก้าวหน้าไป…ฝากไว้ใน คำภาวนาของพี่น้องด้วยเช่นกันนะครับ