การอภิบาลคริสตชนเวียดนามในกัมพูชา
ปลายปี 2015 นี้ประชาคมอาเซียนจะถูกเปิดออกอย่างเป็นทางการ สิ่งหนึ่งที่เราเริ่มเห็นการ เปลี่ยนแปลงกันบ้างแล้วคือ การเคลื่อนย้ายของผู้คนที่ง่ายมากขึ้น แต่ก่อนเราได้ยินคำว่า “โลกาภิวัฒน์” เพราะเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทำให้โลกใครชิดกันมากขึ้น แต่สำหรับเราวันนี้ แม้แต่คนรอบข้างเราก็เปลี่ยนไป พวกเขาอาจจะไม่ใช่คนไทยเหมือนเมื่อก่อน แต่อาจจะเป็นกลุ่ม ชาติพันธุ์ ชาวพม่า ลาว หรือกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานในประเทศเรา
ในบริบทแบบวัด เราเริ่มเปิดให้มีมิสซาภาษาอื่นมากขึ้น หรือมีกิจกรรมตามกลุ่มภาษาของพวกเขาที่วัด และกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจคือ ชาวเวียดนาม รุ่นใหม่ๆที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย พวกเขารวมกันที่วัดคาทอลิกไทยเรา ซึ่งไม่ใช่รุ่นอพยพที่ก่อเกิดกลุ่มคริสตชนไทยเชื้อสายเวียดนาม แต่เป็นชาวเวียดนามที่มาอยู่เพื่อทำงาน
ในประเทศกัมพูชา มีบรรยากาศที่แตกต่างกันกับประเทศไทย“ชาวเวียดนาม” ซึ่งรวมทั้ง คาทอลิกเวียดนามในกัมพูชา อยู่ที่นี่มาตั้งหลายร้อยปีแล้วยิ่งในช่วง 90 ปีภายใต้อาณานิคมประเทศฝรั่งเศส(1863-1953) มีกลุ่มคริสตชนเวียดนามเติบโตขึ้นมาก เช่นแค่ภาย 15 ปี (1869-1884) มีตั้งกลุ่มคริสตชน เวียดนามถึง 20 กลุ่ม[1] ซึ่งสมัยนั้นบรรดาธรรมทูตได้ใช้อำนาจฝรั่งเศสช่วยอยู่ด้วย แต่ผลภายหลัง ทำให้คริสตศาสนา กลายเป็นศาสนาของชาวต่างชาติไปโดยปริยาย ทำให้บรรยากาศ สมัยนั้น มีการแบ่งแยกคริสตชนเวียดนามกับกัมพูชาอย่างชัดเจน ทำให้ในยุคต่อมา เมื่อมีปัญหาการเมือง ระหว่างชาวเขมรกับต่างชาติ ไม่ว่าจะฝรั่งเศสหรือเวียดนาม ทำให้คริสตชน ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพราะเหตุที่มีคริสตชนชาวเวียดนามเป็นส่วนใหญ่ ทำให้บรรดาธรรมทูตส่วนใหญ่ ต้องเรียน ภาษาเวียดนาม หนังสือคำสอนส่วนใหญ่ ก็ใช้ภาษาวัดที่ออกเสียงเป็นภาษาเวียดนาม มีภาษาเขมร น้อยมาก แม้แต่การอบรมในบ้านเณร พระสังฆราชลาซาได้รายงานไปที่คณะธรรมทูตกรุงปารีสว่า ท่านไม่สามารถ ส่งเณรเขมรไปเรียนที่บ้านเณรในเวียดนาม(อินโดจีน)ได้เลย เพราะพวกเขาต้องถูกจับใส่ชุดเวียดนาม และเรียนภาษาเวียดนาม ตลอดเวลาที่อยู่ในบ้านเณร แม้ในสมัยต่อมา พระสังฆราชโบชุต (Bouchut) จะเปิดบ้านเณรที่พนมเปญ ซึ่งมีเณรประมาณยี่สิบคน แต่ก็เกือบทั้งหมดเป็นชาวเวียดนาม[2]
ตัวเลขแรก ๆ ของชาวเวียดนามที่อยู่ในกัมพูชา ช่วงหลังประกาศเอกราชจากฝรั่งเศส(1953) มีถึงสี่แสนคน[3] จนกระทั่งปี 1970 ซึ่งเป็นปีที่ สงครามระหว่างสาธารณรัฐกัมพูชากับพวกเวียดกง ระเบิดขึ้นในเวลานั้นมีคริสตชนประมาณ 60,000 คนทั้งประเทศ แต่มีคริสตชนชาวกัมพูชาเพียงแค่ 3,000 คนเท่านั้นดังนั้นเมื่อลอนนอล ประกาศขับไล่ชาวเวียดนามภายใน 48 ชั่วโมง คริสตังชาว เวียดนาม ก็หายไปทันที จนต้องปิดวัดไปหลายแห่ง
ดังนั้น ประวัติศาสตร์คริสตชนระหว่างชาวกัมพูชาและเวียดนาม ก็ถูกผูกเข้ากับประวัติศาสตร์ ของชาติ อย่างแยกกันไม่ออก และนี่ก็ได้เป็นบทเรียนสำหรับพระศาสนจักรด้วยว่า การประกาศพระวรสาร และการทำงานอภิบาลที่นี่ ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของคาทอลิกทั้งสองกลุ่มนี้ควบคู่ไปด้วย บางครั้งชาวเวียดนาม ที่นี่ทำงานง่าย พวกเขามีความทุ่มเทให้กับพระศาสนจักร ยินดีช่วยเหลือเรื่องวัดเรื่องวา และให้ความเคารพต่อพระสงฆ์นักบวชมาก แต่เมื่อไหร่ที่ให้ชาวเวียดนามออกหน้าในงานวัดชาวเขมรก็จะค่อยๆ ถอยไปอย่างเงียบๆ จนบางครั้งเมื่อรู้สึกตัวอีกที คริสตชนรอบข้างเรา กลายเป็นพวกเวียดนามไปหมด
ความท้าทายนี้ ทำให้บรรดาธรรมทูตและพระสังฆราช ได้คิดไตร่ตรองกันอย่างมาก ในช่วงที่ ประเทศกัมพูชาเปิดประเทศอีกครั้งหนึ่ง หลังจากสงครามหลายสิบปีในประเทศ ในช่วงค่ายอพยพ ได้มี ความพยายามการปรับเรื่องศาสนาหลายอย่าง เพื่อให้เข้ากับชาวเขมร เพื่อช่วยชาวเขมรให้ได้รับข่าวดี ได้ง่ายมากขึ้น ดังนั้น ถ้าพี่น้องได้มาเยี่ยมพระศาสนจักรที่ประเทศกัมพูชา เราจะเห็นถึงความพยายาม ที่จะพระศาสนจักรพยายามนำพระวรสารเข้าสู่วัฒนธรรมของชาวกัมพูชา เช่น การนั่งพื้นในวัด แทนนั่งที่นั่งแบบยุโรป การใช้ธูปในพิธีกรรม การใช้บทอ่านและหนังสือต่างๆ เป็นภาษาเขมร แม้แต่ รูปภาพรูปปั้นต่างๆ ก็พยายามออกแบบให้เป็นศิลปะเขมร ซึ่งบรรดาธรรมทูตเอง ก็ต้องปรับทัศนคติ ตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก ที่จะยอมรับนโยบายนี้ แต่ต้องพยายามเรียนรู้การปฏิบัติด้วย เพราะเมื่อไม่รู้ ก็จะปฏิบัติตามประเพณีปฏิบัติที่ติดตัวกันมาของแต่ละคนไป
ในขณะเดียวกัน ชาวเวียดนามที่นี่ ก็ต้องปรับตัวเองเหมือนกัน คือต้องพยายามรับรู้แนวทาง อภิบาลของพระศาสนจักรที่นี่ ซึ่งผมเห็นว่า ยากสำหรับรุ่นสูงอายุ แต่สำหรับเด็กรุ่นใหม่ เราทำได้ง่ายขึ้น แม้พวกเขา ยังคงใช้ภาษาเวียดนามกันในกลุ่มก็ตาม แต่เรื่องพิธีกรรมภายนอก ก็พยายามออกไปทาง ลักษณะของชาวกัมพูชา ตั้งแต่เพลงและบทสวดในพิธีกรรม บทอ่านและพระวรสาร ฯลฯ การสอนคำสอน ก็ต้องใช้ความพยายามควบคู่กันไปทั้งสองภาษา และพยายามช่วยให้เด็กรุ่นใหม่สวดภาวนาเป็นภาษา เขมร ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพหมู่บ้านด้วย
การทำงานอภิบาลและงานธรรมทูต เราต้องให้เขาพยายามเปิดกลุ่มตัวเองให้มากขึ้น ไม่เป็นกลุ่ม คริสตชนที่ปิดตัว อยู่แต่พวกเดียวกันเอง ซึ่งหลายครั้งพวกเขาไม่มีความคิดถึงชาวเขมรเพื่อนบ้านที่อยู่ ใกล้ๆวัดเลย การอภิบาลต้องช่วยเขาให้เขาสำนึกว่า เขากำลังอยู่ในประเทศกัมพูชา ไม่ว่าจะชั่วคราว หรือถาวรก็ตาม ดังนั้น พวกเขาต้องเรียนภาษากัมพูชาด้วย ควบคู่ไปกับภาษาเวียดนามที่ใช้กันในกลุ่ม แต่ทางพระศาสนจักรก็ช่วยเรื่องการศึกษาสำหรับบุตรหลานคริสตชนชาวเวียดนามด้วย เพื่อให้สามารถ เข้ากับเพื่อนๆ ที่เป็นชาวกัมพูชาได้
งานอภิบาลสำหรับคริสตชนเวียดนามที่นี่ ยังมีงานท้าทายอีกมาก แต่ละวัด ก็มีบริบทของ หมู่บ้านที่แตกต่างกันด้วย ดังนั้น การปรับตัว การประยุกต์ความคิดใดๆ ต้องเอาใจใส่และต้องอาศัย การทำงานร่วมกัน และนโยบายที่ชัดเจน…สารมหาพรตปีนี้ พระสันตะปาปา ทรงตรัสตอนหนึ่งว่า “จงออกไป”… ทีนี้รองมองรอบบ้านคุณผู้อ่านดูนะครับว่า เราจะอภิบาลและประกาศข่าวดีให้กับพวกเขา อย่างไร? หรือจะอยู่แบบสบายๆ อยู่กับคนที่เราคุ้นเคยเท่านั้นหือ?