เยี่ยมเยียนสมาชิกที่ จังหวัดเสียมเรียบ
นับตั้งแต่การประชุมใหญ่ เมื่อต้นปี 2014 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสรับใช้คณะธรรมทูตไทย นอกเหนือจากการเป็นธรรมทูตธรรมดาๆ โดยได้รับการแต่งตั้งจากคณะให้เป็นผู้แทนอธิการใหญ่ เพื่อดูแลสมาชิกคณะธรรมทูตในประเทศกัมพูชาทั้งหมด คุณพ่ออาดรีอาโน ได้เน้นย้ำหน้าที่หนึ่งคือ การเยี่ยมเยียนสมาชิก
แต่เนื่องจากการงานหน้าที่ประจำในมิสซังที่พนมเปญ มีมากมาย จนต้องทำให้เลื่อนการทำหน้า ที่นี้ไปหลายครา ที่สุดเวลาที่เหมาะสมก็มาถึง ผมเริ่มต้นด้วยการมาเยี่ยมสมาชิกร่วมงานของเราครั้งแรก ที่ จังหวัดเสียมเรียบ จังหวัดที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างน่าจับมองที่สุดในประเทศกัมพูชา
สมาชิกร่วมงานคณะธรรมทูตที่จังหวัดนี้คือ ซ.พรทิพย์ แก้วกิ่ง จากคณะผู้รับใช้ดวงหทัยนิรมล พระแม่มารีย์จากสังฆมณฑลราชบุรี ซิสเตอร์พรทิพย์ เข้าร่วมงานกับคณะธรรมทูตไทยเมื่อ 15 ตุลาคม 1996 และในปีเดียวกันก็เข้ามาทำงานในประเทศกัมพูชา โดยมาพร้อมกับซิสเตอร์สุดาทิพย์ เจริญพานิช เริ่มงานครั้งแรกที่จังหวัดกำปงธม ทำงานช่วยวัดวาอยู่ทางโน้นอยู่นาน ประจวบกับมีสมาชิกใหม่ชาว กัมพูชา คือ ซ.สุขริน รวมทั้งได้พูดคุยกับทางผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายคณะ และพระสังฆราชในพื้นที่เอง ก็ได้ วางแผนการการเปิดบ้านใหม่ที่ จังหวัดเสียมเรียบ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวจังหวัด แต่มีวัดและกลุ่ม คริสตชนย่อยอีก 4 แห่ง ที่ต้องดูแลโดยพ่อเจ้าอาวาส ซึ่งปัจจุบัน คือ คพ.สเตฟานุส(เยสุอิตจากอินโดนีเซีย)เพียงคนเดียว{besps}2014/frdenvisit2014{/besps}
ที่วัดแห่งนี้มีซิสเตอร์ร่วมงานจากหลายคณะมาก แต่ส่วนใหญ่ช่วยเรื่องการดูแลจัดการทั่วไป โดยเฉพาะเรื่องการรับแขก เพราะเป็นวัดที่มีแขกต่างถิ่นมาพักมากที่สุด ทั้งนี้เพราะจังหวัดนี้ เป็นที่ตั้ง ของปราสาทนครวัด นครธม จุดขายนักท่องเที่ยวที่ทำให้เศรษฐกิจที่นี่บูมอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะภาค บริการและการท่องเที่ยวซึ่งช่วยสร้างงานให้กับชาวกัมพูชามากมาย และซิสเตอร์ และฆราวาสธรรมทูตหลายคณะก็มาช่วยงานอภิบาลของวัดควบคู่ไปกับพันธกิจของคณะเอง
จุดน่าสังเกตอย่างหนึ่งที่นี่คือ เนื่องจากพระสงฆ์เจ้าอาวาสเป็นต่างชาติ และเพิ่งเปลี่ยนใหม่ (พ่อคุณก่อนเป็นมะเร็งเสียชีวิต) คุณพ่อเจ้าอาวาสเอง ก็ต้องดูแลองค์การของคณะเยสุอิตอีก ผลก็คือ การมีงานมากเกินไปของสงฆ์ธรรมทูต ดังนั้น ฆราวาสที่มีประสบการณ์การทำงานมากกว่า ก็เลยเป็น ผู้ช่วยทั้งในด้านการจัดการ รวมทั้งงานสอนคำสอน ที่เป็นการวางพื้นฐานความเชื่อของคริสตชนที่นี่ด้วย แต่เนื่องจากมีหลายกลุ่ม แม้แต่ฆราวาสผู้ดูแลเองก็ไม่มีเวลาไปได้ทุกกลุ่ม
ซิสเตอร์พรทิพย์ ได้เข้ามาช่วยเติมเต็มความต้องการของเขตวัดได้อย่างดีซิสเตอร์ได้ช่วยรับเด็กที่มาเรียนในตัวเมือง มาพักในบ้านพักของซิสเตอร์ ซึ่งเป็นความช่วยเหลือจากวัดและทางคณะ ผู้รับใช้ฯ เพื่อใช้อบรมเด็ก แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องได้รับทุนมาแล้วจึงมาอยู่ได้
เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซิสเตอร์ได้พาผมไปดูงานด้านการศึกษาที่วัดแห่งหนึ่งซึ่งกลุ่ม คริสตชนนี้ อยู่ที่หมู่บ้านกำปงเคลียงซึ่งเป็นหนึ่งในเนื้องานที่ ที่แบ่งเบาจากวัดอื่นๆ ที่จริงซิสเตอร์ต้องเดินทางไปกับพ่อเจ้าวัด ไปตามกลุ่มคริสตชนหลายๆกลุ่ม เพื่อช่วยงานด้านอบรม แต่วัดแห่งนี้เป็นวัดที่ รับมอบหมายโดยตรง โดยเฉพาะเรื่องการสอนคำสอน
กลุ่มคริสตชนที่กำปงเคลียง ตั้งอยู่ในทางตอนเหนือของทะเลสาบเขมร แต่เดิมที คริสตชนชาว เวียดนามซึ่งทำมาหากินที่นี่ ได้เริ่มกลุ่มคริสตชน แต่ต่อมาเมื่อการทำมาหากินไม่ค่อยดี พวกเขาได้ย้าย ออกไป แต่ก็มีชาวเขมรส่วนหนึ่ง ได้เข้ามาเรียนคำสอน และมีจำนวนหนึ่งได้รับศีลล้างบาปเป็นคริสตชน
ชุมชนแห่งนี้มีความโดดเด่นและอาจจะเป็นจุดขายนักท่องเที่ยวเลยก็ว่าได้ คือ ลักษณะชุมชน และบ้านเรือน ที่สร้างสูงมาก ประมาณ 8 เมตรจากพื้นดิน นั่นก็เป็นเพราะว่า ในฤดูแล้ง ชาวบ้านจะ เดินทางโดยใช้ถนน ส่วนฤดูน้ำหลาก จะใช้เรือแทน วันที่ผมไปเป็นช่วงเข้าปลายฤดูฝน น้ำโขงที่ไหลเข้า ทะเลสาบเขมร ทำให้การเดินทางในหมู่บ้านต้องอาศัยเรือเป็นหลัก ซึ่งระดับน้ำตอนนั้นคือ ประมาณ สี่เมตร แต่บ้านยังเหลือที่สูงพอที่พ้นน้ำ เพราะมันถูกสร้างมาเพื่อรับกับระดับน้ำนั้น
บ้านเรือนที่นี่ต่างจากชุมชนลอยน้ำที่ตัวจังหวัดเสียมเรียบ เพราะชุมชนแห่งนี้ สร้างแบบถาวร ไม่ได้ขึ้นลงตามระดับน้ำในทะเลสาบ อาชีพชาวบ้านมักเกี่ยวข้องกับการประมงและการท่องเที่ยว แต่เดิม วัดก็เป็นลักษณะลอยขึ้นตามน้ำ แต่ปัจจุบัน ได้สร้างขึ้นอย่างสูงบนเสาคอนกรีตที่มั่นคง
เรือที่เช่ามาพาเราเข้าไปถึงตัววัด ตอนนั้นเด็กเพิ่งจะเลิกเรียน ตัววัดถูกใช้เป็นห้องอเนกประสงค์ วันอาทิตย์ใช้ชุมนุมเพื่อสวดภาวนา วันธรรมดากลายเป็นชั้นเรียน ซึ่งตอนนี้มีอยู่สามชั้นเรียน ตั้งแต่ป.1 ถึง ป.3 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหลานชาวเขมรในหมู่บ้าน ทางวัดได้ขุดบ่อน้ำ เพื่อใช้น้ำโดยไม่ปะปนกับน้ำ ในทะเลสาบ ซึ่งเป็นแหล่งรวมของทุกอย่าง รวมทั้งมีถังกรองน้ำเพื่อช่วยให้เด็กๆ มีน้ำสะอาดไว้ดื่มด้วย
ผมเห็นความพยายามของพระศาสนจักรที่นี่ ที่จะนำความเชื่อไปถึงกลุ่มที่อยู่แม้นอกความเจริญ ซึ่งองค์การเยสุอิตเพื่อช่วยบรรเทาภัย ทำงานร่วมกับพระศาสนจักรอย่างควบคู่กันดี แม้ว่าจะทำให้ทาง พระศาสนจักรต้องขาดบุคลากรไปบ้างก็ตาม เพราะพระสงฆ์ส่วนหนึ่งต้องดูแลงานองค์การด้วย
เมื่อกลับมาจากเยี่ยมกลุ่มคริสตชน ผมกลับมาที่บ้านพักซิสเตอร์อีกครั้ง ฝนตกเกือบทุกวัน โดยเฉพาะตอนบ่ายหรือตอนเย็น สร้างความชุมชื้นที่จังหวัดเสียมเรียบนี้ เมื่อฝนหยุดตก ซิสเตอร์พาผม ไปดูที่ดินผืนใหม่ ที่มิสซังกับคณะผู้รับใช้ฯ และผู้มีจิตศรัทธา ได้รวมกันซื้อเพื่อจะทำเป็นศูนย์อบรมต่อไป ในอนาคต เพราะความน่าสนใจที่วัดที่จังหวัดเสียมเรียบนี้คือ เด็กและเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มนักขับร้อง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่คาทอลิก ส่วนใหญ่มาจากหมู่บ้านที่ซิสเตอร์พักและที่ดินใหม่ก็อยู่ใกล้ชุมชนแห่งนี้เช่น กัน เวลาที่เราเดินผ่านหมู่บ้าน เด็กๆ และชาวบ้านจำซิสเตอร์ได้เกือบทุกคน นั่นเพราะการพันธกิจของ พระเยซูเจ้าที่จะนำความรักและความรอดพ้นไปสู่ทุกคน เป็นสิ่งที่ต้องแสดงออกด้วยการกระทำ และ ซิสเตอร์ได้ทำมันจนเป็นสิ่งที่เห็นและจับต้องได้
ผมได้ถามและพูดคุยในเรื่องต่างๆ อีกมากมายเกี่ยวชีวิตความเป็นอยู่ ชีวิตกลุ่ม การทำงาน งาน ด้านการอบรม และชีวิตฝ่ายจิต การเดินทางของผมสิ้นสุดลงด้วยการถวายมิสซาพร้อมกับสมาชิกภายใน บ้านซิสเตอร์ และการเยี่ยมเยี่ยนครั้งนี้ ก็จะถูกถ่ายทอดเป็นภาพถ่ายอีกใบหนึ่ง ซึ่งจะถูกซิสเตอร์ใส่เข้า ไปในรูปภาพของบรรดาแขก ที่ถูกแขวนโชว์ไว้ในห้องด้านหน้า…อยากเยี่ยมชมกิจการงานธรรมทูตของ ซิสเตอร์พรทิพย์ ติดต่อได้ที่ +855 12 673 583 หรืออีเมล์ที่ elisaporn@yahoo.com