Uncategorized

บทเทศน์พระคาร์ดินัลเกรียงศักดิ์ โอกาสประชุมสมัชชาและเลือกตั้งอธิการเจ้าคณะธรรมทูตไทยท่านใหม่ 20 ม.ค. 2017

บทเทศน์พระคาร์ดินัลฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช
ประมุขแห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ในฐานะพระสังฆราช
ผู้ปกครองดูแลคณะธรรมทูตไทย โอกาสประชุมสมัชชา
และเลือกตั้งอธิการเจ้าคณะธรรมทูตไทยท่านใหม่
วันที่ 20 มกราคม 2017 ณ วัดแม่พระเหรียญอัศจรรย์
————————————————–

          พี่น้องสมาชิกคณะธรรมทูตไทย และผู้ร่วมงานที่รักทุกท่าน

          วันนี้ โอกาสประชุมสมัชชาคณะธรรมทูตไทยและได้มีการเลือกตั้งอธิการของคณะฯ บทอ่านพระวาจาพระเจ้าที่เราอัญเชิญมาอ่านวันนี้ ก็ไม่ได้มีการเลือกสรรใด ๆ พิเศษเป็นการเฉพาะ แต่พวกเราได้รับฟังบทอ่านประจำวันของพิธีกรรมวันนี้ วันศุกร์ สัปดาห์ที่ 2 เทศกาลธรรมดา ปีคี่ นั่นเอง ซึ่งนับว่าเหมาะสำหรับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพวกเราคณะธรรมทูตไทยและผู้ร่วมพันธกิจทุกคนในช่วงนี้

          (1) บทอ่านที่ 1 อันเป็นบทอ่านจากจดหมายถึงชาวฮีบรู พูดกับพวกเราว่า “วันนั้นจะมาถึง เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าจะทำพันธสัญญาใหม่กับประชากรใหม่ของพระองค์” และวันนั้นก็มาถึงแล้ว องค์พระผู้เป็นเจ้าก็ได้ทรงทำพันธสัญญาใหม่กับประชากรใหม่ของพระองค์แล้ว ประชากรใหม่ของพระเจ้าก็คือพวกเราคริสตชนศิษย์ของพระองค์ทุกคน และพันธสัญญาใหม่ของพระองค์ก็หาใช่อื่นใดไม่ นอกจากบทบัญญัติใหม่แห่งความรักต่อกันที่พระเยซูคริสตเจ้าได้ทรงมอบไว้แก่พวเราทุกคน  เมื่อพระองค์ตรัสไว้ในพระวรสารว่า “เราให้บัญญัติใหม่ของเราแก่ท่าน ให้ท่านทั้งหลายรักกันและกัน อย่างที่เรา (พระเยซู) รักท่าน” “เรารักท่านทั้งหลายอย่างไร ท่านทั้งหลายจงรักกันและกันอย่างนั้นด้วย”

          (2) พระวรสารตอนนั้นพูดถึง “อารยธรรมแห่งความรัก” ที่พระเยซูคริสตเจ้าได้ทรงนำเข้ามาในโลก และพระองค์ทรงปรารถนาให้บรรดาศิษย์ของพระองค์เป็นกลุ่มแรกที่ปฏิบัติต่อกันตามแนวทางดังกล่าวนั้น เพื่อก่อเกิดและขับเคลื่อนวิถีชีวิตใหม่นี้ ให้แพร่หลายกระจายตัวไปในสังคมโลกรอบข้าง เพราะนี่เป็นบทบัญญัติรักต่อเพื่อนมนุษย์ขั้นสูงสุดที่คนเราจะสามารถปฏิบัติต่อกันได้  พระองค์ตรัสว่า “พวกท่านจงรักกันและกัน ดังที่เรา (พระเยซู) รักท่าน” “ไม่มีความรักใดจะยิ่งใหญ่กว่าการสละพลีชีวิตเพื่อมิตรสหาย”

          ดังนั้น หากว่าพระเยซูเจ้า (พระองค์เอง) ได้ทรงสละพระชนม์ชีพเพื่อเรา และทรงสั่งพวกเราคริสตชนให้รักกันและกัน ดังที่พระองค์ได้ทรงรักเรา นั่นก็หมายความว่า พระเยซูเจ้าทรงพระประสงค์หรือทรงคาดคอยให้เราคริสตชนมีความรักต่อกันจนถึงขั้นนั้น จนถึงขั้นสละพลีชีวิตให้แก่กันและกันได้  มันหมายความว่าอย่างไร? สละชีวิตให้แก่กันและกันที่พ่อมักจะเน้นบ่อย ๆ มันควรเป็นเช่นนั้นจริง ๆ หรือเป็นเพียงแค่การเปรียบเทียบ หรือเพียงพูดให้ดูท้าทาย อะไรทำนองนั้น เท่านั้น หรือเปล่า?  แน่นอนว่า ความรักต่อกันขั้นนั้นถือเป็นขั้นสูงสุด ตามพระดำรัสของพระเยซูเจ้าที่ตรัสตามต่อมาว่า “ไม่มีความรักใดจะยิ่งใหญ่กว่านี้ สละพลีชีวิตของตนเพื่อบุคคลที่ตนรัก”

          เมื่อเป็นเช่นนี้ พ่อจึงเป็นคนหนึ่งที่มักจะเน้นย้ำเป็นประจำ โดยใช้คำ 2 คำ เพื่ออธิบายการสละพลีชีวิตดังกล่าวว่ามี 2 แบบ คือ แบบ “จ่ายสด” สละชีวิตตายเพื่อกันและกันในทันทีทันใด  และแบบ “ผ่อนส่ง” สละชีวิตเพื่อกันและกัน ผ่อนส่งต่อเนื่องไปในชีวิตประจำวันจนตลอดชีวิต  ที่แยกเป็น 2 แบบนี้ ก็เพื่อยืนยันว่าเป็นการเรียกร้องความเสียสละในการ “สละชีวิต” จริง ๆ มิใช่สักแต่พูดให้ดูดีเท่านั้น  เพียงแต่ยังไม่ถึงขั้นที่องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงเรียกร้องเรา ให้ต้องเสียสละทั้งหมด “จ่ายสด” ในงวดเดียว

          ดังนั้น เราทุกคนจึงต้องตั้งเป้าหมายให้ถึงขั้นสูงสุดเช่นนั้นไว้ก่อน เมื่อพระเจ้าจะทรงเรียกร้องจากเราถึงขั้นนั้นจริง เราจะได้ทำได้  และหากเราตั้งใจจริงจังเช่นนี้จนถึงขั้นนั้น ก็หมายความว่า การเสียสละสิ่งอื่น ๆ ที่เหลือ ที่เราจะถูกเรียกร้องจากความรักต่อเพื่อนมนุษย์ในชีวิตประจำวัน มันเล็กน้อยกว่านี้มาก มันยังไม่ถึงขั้นนี้ ไม่ถึงขั้นสละทั้งชีวิต เราก็น่าจะเสียสละให้กันและกันได้  อย่างเช่นการสละละความคิดเห็นของตนเอง การเสียสละความสะดวกสบาย การอดทน ยอมรับกัน ให้อภัยกัน การยอมเสียศักดิ์ศรี และอื่น ๆ ที่เหลือทั้งหมด ซึ่งยังไม่เรียกร้องถึงขั้นสละทั้งชีวิต เราแต่ละคนก็น่าจะเสียสละให้กันและกันได้

          ข้อคิดเหล่านี้มีไว้เพื่อช่วยพวกเราให้เติบโตมากขึ้นในความรักต่อกันในหมู่คณะนักบวช รวมทั้งคณะสงฆ์ ในครอบครัวคริสตชน ในชุมชนความเชื่อ เพื่อเราจะสามารถเข้ามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน ในการผลักดัน “อารยธรรมแห่งความรัก” ให้เกิดเป็นจริงขึ้นได้ในทุกแวดวงของพระศาสนจักรของเราได้ เพราะนี่เป็นประเด็นเรื่องความรักต่อกัน อันเป็นความรักต่อพี่น้องเพื่อนมนุษย์ขั้นสูงสุด

          (3) สมาชิกคณะธรรมทูตไทยและผู้ร่วมงานที่รักทุกท่าน จาก “บัญญัติรัก” ที่พระเยซูเจ้าได้ทรงนำเข้ามาในโลก ทำให้เกิดมีกลุ่มคริสตชนแรกเริ่มแห่งกรุงเยรูซาเล็มขึ้น และที่เกิดเป็นดังนั้นได้ ก็เพราะมีเหตุการณ์ที่เราได้รับฟังในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาร์โกตอนของวันนี้ “พระเยซูเจ้าได้ทรงเรียกผู้ที่พระองค์ทรงต้องการให้มาพบ เขาเหล่านั้นก็มาเฝ้าพระองค์ พระองค์จึงทรงแต่งตั้งอัครสาวก 12 คน ให้อยู่กับพระองค์ เพื่อจะส่งเขาออกไปเทศน์สอน”  ดังนั้น ชัดเจนแล้วว่า ก่อนหน้าที่จะมีชุมชนคริสตชนแรกเริ่มแห่งกรุงเยรูซาเล็ม บรรดาอัครสาวกทั้ง 12 ได้เริ่มดำเนินชีวิตตาม “อารยธรรมแห่งความรัก” นี้มาก่อนรอบ ๆ องค์พระเยซูเจ้า โดยมีพระเยซูเจ้า พระองค์เอง ทรงเป็นองค์แบบอย่าง ได้ทรงสอน ย้ำเตือน แก้ไข และพระองค์ทรงปรารถนาอย่างยิ่งให้พวกเขาทุกคนปฏิบัติเช่นนั้น

          ในสมัยพระเยซูเจ้าไม่มีบ้านเณรเล็ก ไม่มีบ้านเณรกลาง ไม่มีบ้านเณรใหญ่ ไม่มีบ้านโนวิส บ้านอบรมต่าง ๆ ในรูปแบบสถาบันอย่างปัจจุบัน พระองค์ได้ทรงเรียกบรรดาอัครสาวกมาและให้พวกเขาอยู่กับพระองค์ จากนั้น พระองค์ก็ทรงส่งพวกเขาออกไป  จากอัครสาวก 12 คน กลายเป็นกลุ่มศิษย์ 72 คน และจาก 72 คน ก็กลับกลายเป็นกลุ่มผู้ติดตามพระเยซูเจ้าจำนวน 500 คน ก่อนที่พระเยซูเจ้าจะเสด็จสู่สวรรค์  แล้วนั้น ชุมชนคริสตชนสมัยแรกเริ่มก็ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น และกลุ่มคริสตชนแรกเริ่มสมัยอัครสาวกนี้แหละที่ได้สร้างความประทับใจให้แก่ชาวยิวและชนชาติต่าง ๆ ที่ผ่านไปผ่านมา ติดต่อค้าขายและใช้ชีวิตอยู่ในดินแดนแถบนั้น  แล้วนั้น พระศาสนจักรก็ได้เติบโต แผ่ขยายไปทั่วโลก พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน

          (4) สภาพระสังฆราชคาทอลิกไทยของเรามิได้นำสิ่งใดใหม่เข้ามาในพระศาสนจักร ตรงข้าม ได้พยายามเชิญชวนพวกเราคริสตชนคาทอลิกไทยในปัจจุบัน ให้ย้อนกลับไปดำเนินชีวิตแบบคริสตชนแรกเริ่มสมัยอัครสาวก โดยยึด “แก่นแท้” ของพระวรสารให้มั่นไว้ และพยายามทำให้เกิดเป็นชีวิตจริงภาคปฏิบัติขึ้น  ดังนั้น หากใครปฏิบัติวิถีชีวิตดังกล่าวนี้ ก็เป็นการปฏิบัติชีวิตคริสตชนธรรมดา ๆ นั่นเอง ที่พระเยซูคริสตเจ้าได้ทรงมอบให้แก่พระศาสนจักร และบรรดาอัครสาวกได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมา โดยที่พวกท่านเหล่านั้นได้เริ่มด้วยการดำเนินชีวิตตามวิถีงดังกล่าวร่วมกัน พร้อมกับองค์พระอาจารย์เจ้าของพวกท่าน

          (5) สมาชิกคณะธรรมทูตไทยและผู้ร่วมงานทุกท่าน พระวรสารวันนี้พูดถึงการเรียกอัครสาวกทั้ง 12 ของพระเยซูเจ้า พวกเราเองทุกคนที่อยู่ ณ ที่นี้ ก็เป็นผู้ที่ “พระเยซูเจ้าได้ทรงเรียกมาด้วย” ให้พวกเรา “มาอยู่กับพระองค์”  จากนั้น “พระองค์ก็ทรงส่งพวกเราออกไปเทศน์สอน” พร้อมกับการดำเนินชีวิตเป็นพยาน  คำถามต่อไปของพ่อ คงจะสะเทือนใจพวกเราหลายคนเป็นพิเศษ และทุก ๆ คนด้วย เพราะพวกเราก็มีคุณสมบัติคล้าย ๆ กับบรรดาอัครสาวกหลาย ๆ องค์มาก่อน

          (5.1) เริ่มจากเปโตร ที่คุยโวและชักดาบออกมาว่าจะปกป้องพระเยซูเจ้า แต่แล้วก็ได้ปฏิเสธพระองค์ถึง 3 ครั้ง และในขณะที่พระเยซูเจ้าถูกตรึงอยู่บนกางเขน เปโตรก็เป็นคนหนึ่งที่ “หายหัวไปด้วย” เป็นเปโตรคนนี้แหละ! ที่พระเยซูเจ้าได้ทรงมอบฝากพระศาสนจักรของพระองค์ระดับสูงสุดไว้ในความดูแลของท่าน ทรงไว้วางใจให้ท่านเป็นประมุขคนแรกของพระศาสนจักรของพระองค์

          (5.2) มัทธิว (หรือเลวี) ก็เป็นอัครสาวกคนหนึ่งของพระเยซูเจ้า ก่อนหน้านั้น เขาเคยมีอาชีพเป็นคนเก็บภาษีมาก่อน สำหรับชาวยิวจะถือว่าคนเก็บภาษีเป็นคนบาป และอาชีพนี้ก็คงจะต้องถือว่าเป็นอาชีพของคนบาปจริง ๆ เพราะเป็นอาชีพที่มีโอกาสจะหาเงินทองและผลประโยชน์เข้าตัวได้มากมาย โดยอำนาจหน้าที่ที่มีเปิดโอกาสให้ มีทหารโรมันคอยคุ้มกัน แม้จะเป็นไปอย่างอยุติธรรมและผิดศีลธรรมด้วยก็ตาม

          (5.3) โทมัส ก็ศิษย์ที่หัวดื้อ เชื่อยาก …

          (5.4) ยอห์นกับยากอบพี่ชาย ตอนที่มารดาของพวกเขาพามาฝากเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้า ก็มีความคาดหวังว่าลูกทั้งสองของตนคงจะได้มีตำแหน่งสำคัญ จึงได้ออกปากขอตำแหน่งสำคัญให้ลูกทั้งสองอย่างออกหน้าออกตาทีเดียว ก่อให้เกิดความไม่พอใจจากบรรดาอัครสาวกคนอื่น ๆ  ยอห์นและยากอบพี่ชาย ในคราที่เดินทางผ่านเขตสะมาเรีย และชาวสะมาเรียไม่ต้อนรับ แสดงอาการรังเกียจ ทั้งคู่ก็ไปบอกพระเยซูเจ้าให้ขอไฟจากฟ้ามาเผาไอ้พวกนี้ให้วอดวายไปเลย  รวมทั้งยังเคยได้รับฉายาว่า “ลูกฟ้าผ่า”  ในคราที่คนอื่นที่ไม่ใช่ศิษย์ในกลุ่มพระเยซูเจ้าไล่ผีในนามของพระองค์ ก็ไปห้ามปรามเขาไม่ยอมให้ทำเช่นนี้ ศิษย์พระเยซูเจ้าระดับอัครสาวกแต่ละคน ล้วน HOT HOT ทั้งนั้น

          (5.5) เปาโล ผู้ได้รับฉายาว่าอัครสาวกแห่งนานาชาติ ก็ใช่ย่อย เริ่มต้นจากการเป็นศัตรูคู่อาฆาต เป็นพยานรู้เห็นในเหตุการณ์การทุ่มหินสเตเฟน ติดตามเบียดเบียนศิษย์พระเยซูเจ้า จับกุม คุมขัง ถือหมายไปตามล่าจนถึงดามัสกัต เป็นที่โจษขานและเกรงกลัวไปทั่ว

          (5.6) กระนั้นก็ตาม พระเยซูเจ้าก็ทรงเลือกคนประเภทนี้ให้มาเป็นศิษย์ใกล้ชิดของพระองค์ ให้พวกเขาเป็นอัครสาวก ทั้ง ๆ ที่ภูมิหลังของหลาย ๆ คน ก็เป็นประเภท “ข้าวตก” ทั้งสิ้น และพระเยซูเจ้าก็ทรง “เก็บข้าวตก” เหล่านี้มาทำประโยชน์  และคงเป็นเพราะเหตุนี้เองนั่นแหละ ที่ทำให้บรรดา “ศิษย์ข้าวตก” ทั้งหลาย ซาบซึ้งในพระเมตตารักของพระองค์อย่างสุดจิตสุดใจเลยทีเดียว และก็เป็นพวกนี้เองอีกนั่นแหละ ที่ภายหลังจากผ่านเส้นทางเดินอันยาวไกลแห่งความผิดพลาด ล้มลุกคลุกคลานมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน  เป็นพวกเขาเหล่านี้อีกนั่นแหละ ที่สำนึกในพระเมตตาไร้ขอบเขตของพระองค์ ได้กลับกลายเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์ และอุทิศชีวิตทั้งหมดให้แก่พระองค์และพระวรสารจนถึงที่สุด

          (6) เมื่อพูดมาถึงบรรดา “ศิษย์ข้าวตก” เหล่านี้แล้ว ก็อยากจะขอนำประสบการณ์จริงของคน ๆ หนึ่งที่ได้สัมผัสพระเมตตาของพระเจ้าผ่านทางศีลอภัยบาป  จากนั้น สิ่งดี ๆ อีกหลายอย่างได้เกิดตามมาในชีวิตของเขา รวมทั้งกระแสเรียกการเป็นพระสงฆ์ และชีวิตสงฆ์ที่ดี ที่น่าชื่นชม อีกด้วย

          จอห์น อีแกน ได้ไปร่วมเข้าเงียบสำหรับนักเรียนมัธยมกับเพื่อนร่วมชั้นของเขา  ในวันสุดท้าย เขาตัดสินใจทำบางสิ่งที่เขาผัดผ่อนมานาน เขาตัดสินใจไปขอรับศีลอภัยบาป จอห์นสารภาพบาปอย่างละเอียด เขาสารภาพทุกบาปที่เขาจำได้อย่างซื่อตรง และเปิดเผยที่สุดเท่าที่เขาสามารถทำได้  จอห์นแปลกใจมากที่พระสงฆ์ไม่ได้พูดถึงบาปของเขาเลย แต่กลับพูดถึงความรักอันยิ่งใหญ่ที่พระเจ้าทรงมีต่อเขา

          จอห์นบรรยายเหตุการณ์ต่อมาไว้ในสมุดบันทึกชีวิตจิตของเขาว่า “ผมก้าวออกจากวัดน้อยด้วยความรู้สึกโล่งใจมาก และเดินออกไปภายนอก ไปสู่ความงามของธรรมชาติยามบ่ายวันนั้น ผมรับรู้อย่างชัดเจนถึงความสดชื่นงดงามของฤดูใบใม้ผลิในเดือนเมษายนนั้น ความยินดีเอ่อล้นจิตใจของผม และกระจายพล่านไปทั่วร่างอย่างไม่เคยประสบมาก่อน ต่างจากเหตุการณ์ที่ผมเคยพบมาก่อน ประสบการณ์นี้บริสุทธิ์และเข้มข้นมากกว่า

          ในขณะที่ผมกำลังเดินไปตามลำพัง และกำลังแปลกใจกับความใหม่ของทุกสิ่งทุกอย่าง ความชื่นชมยินดีอันบริสุทธิ์และเข้มข้นค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นและแผ่ขยายไป ผมไม่เคยมีความสุขมากเช่นนี้มาก่อนเลยในชีวิต  ผมเดินเล่นไปเรื่อย ๆ โดยไม่รู้และไม่สนใจว่าเท้าของผมจะพาผมไปที่ไหน นานทีเดียวกว่าผมจะรู้ตัวว่า ผมกำลังเดินอยู่บนสนามกอล์ฟ ผมจำได้ว่าผมนอนลงบนบังเกอร์อย่างมีความสุข มองขึ้นไปบนท้องฟ้า พร้อมกับอ้าแขนต้อนรับพระเจ้า  ผมจำไม่ได้ว่าผมนอนอยู่ที่นั่นนานเท่าไร จำได้เพียงว่า ผมรู้สึกใกล้ชิดกับพระเจ้ามาก”

          (7) พี่น้องพระสงฆ์ธรรมทูตครับ เรื่องราวของจอห์น อีแกน ไม่ได้จบลงแค่นั้น จากประสบการณ์การสารภาพบาปแบบเปิดใจหมดเปลือกต่อพระเมตตาของพระเจ้าของเขาครั้งนั้น ทำให้จอห์นได้สัมผัสกระแสเรียกการเป็นพระสงฆ์ของเขา และเขาได้ตัดสินใจตอบรับกระแสเรียกนั้นในเวลาต่อมา  คุณพ่อจอห์น อีแกน ได้เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย Marquelte ใน Milwan ท่านเสียชีวิตเมื่ออายุยังไม่มากนัก 50 กว่า ๆ เท่านั้น

          (7.1) เมื่อท่านได้อ่านข้อคิดเห็นของบางคนที่ขอบคุณพระสงฆ์ผิวดำอาวุโส นักเทศน์ท่านหนึ่งที่ได้เทศน์อย่างจับใจ โดยชื่นชมว่าพระสงฆ์ผิวดำท่านนั้นเป็นคนดี เป็นพระสงฆ์ศักดิ์สิทธิ์  พระสงฆ์ผิวดำอาวุโสท่านนั้นก็ตอบเขาว่า “ไม่ใช่เช่นนั้นหรอก พ่อเองก็เป็นคนอ่อนแอเหมือนทุก ๆ คน เป็นคนบาปเช่นกัน แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงปกพระหัตถ์ของพระองค์เหนือพ่อ และทั้งหมดก็ก่อเกิดผลในชีวิตของพ่อ จากการปกพระหัตถ์ของพระองค์ ผ่านทางมือของพระสงฆ์ท่านหนึ่ง  แล้วนั้น ชีวิตของพ่อก็เปลี่ยนแปลงไป”

          คุณพ่อจอห์น อีแกน ก็ได้แสดงความเห็นในประเด็นนี้เพิ่มเติมว่า “นั่นก็เป็นเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันที่ได้เกิดขึ้นในชีวิตของพ่อด้วย ในการเข้าเงียบครั้งนั้นสมัยที่อยู่ในชั้นมัธยมปลาย  องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงปกพระหัตถ์ของพระองค์ลงเหนือพ่อ โดยผ่านทางพระสงฆ์ท่านหนึ่ง และแล้ว ชีวิตพ่อทั้งหมดก็เปลี่ยนไปนับแต่นั้นเป็นต้นมา  พ่อขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับพระพรประการนั้น และพ่อคงจะต้องบอกอีกว่า แม้ว่าพ่อจะไม่เข้าใจว่าทำไมพระองค์จึงทรงทำเช่นนั้นก็ตาม”

          (7.2) คุณพ่อจอห์นยังได้บันทึกประสบการณ์แห่งความสุขใจ ขณะที่ท่านได้ประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณไว้อีกว่า “ในบทข้าแต่พระบิดา ขณะที่ทุกคนประสานมือกันและขับร้อง ในบัดดลนั้น ส่วนที่งดงามที่สุดได้สัมผัสจิตใจของพ่อ จนพ่อกล่าวบทข้าแต่พระบิดานั้นออกมาไม่ได้ เพราะความตื้นตันใจ”

          “จากนั้น ก็มาถึงช่วงเวลาของการรับศีลมหาสนิท บรรดาสัตบุรุษต่างก็ก้าวเข้ามารับศีลฯ ไม่ว่าจะเป็นคุณตาคุณยายพร้อมไม้เท้ายันกายของท่าน บรรดาพ่อแม่จูงลูกอุ้มหลานเข้ามารับศีลมหาสนิท ในบัดดลนั้น เป็นอีกครั้งหนึ่งท่ามกลางบุคคลดังกล่าวเหล่านี้ บรรยากาศแห่งปีติสุขได้ท่วมท้นล้นจิตใจของพ่ออย่างเต็มที่ พ่อรู้สึกตื้นตันใจเป็นอย่างมาก จนมิอาจจะกล่าวข้อความธรรมดา ๆ ที่ว่า ‘พระกายพระคริสตเจ้า’ ออกมาได้”

          (8) พี่น้องสมาชิกคณะธรรมทูตไทยครับ ถ้าจะให้พ่อนำเสนอเรื่องราวของคุณพ่อจอห์น อีแกน ต่อไป ก็คงจะมีให้พูดคุยกันได้อีกมาก  ประสบการณ์ของพวกเราบางคน ก็อาจจะต่างจากบรรดาอัครสาวกในชุดแรกที่พ่อได้ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง  พวกเราบางคนจะมีลักษณะแบบคุณพ่อจอห์น อีแกน และอัครสาวกอื่นอีกบางท่าน ที่ไม่ตื่นเต้น เร้าใจ โลดโผน แต่สดใสงดงาม

          ที่สำคัญคือทุกท่านทุกคนก็มีประสบการณ์ร่วมเดียวกัน คือ ทุกคนได้สัมผัสพระเมตตาและความรักของพระเจ้า และจากการสัมผัสประสบการณ์ดังกล่าวนั้น ทำให้ชีวิตของเราแต่ละคน “พลิกกลับ” แบบ 180 องศา จากแต่เดิมที่ดำเนินชีวิตเอาตนเองเป็นศูนย์กลางของทั้งโลกจักรวาล กลับกลายเป็น “พระเจ้าองค์ความรัก” เข้ามาแทนที่ และเป็นศูนย์กลางชีวิตของเราแต่ละคน  พระองค์สำคัญสูงสุด และอยู่เหนือทุกสิ่ง ทุกคน รวมทั้งน้ำใจของเราเองด้วย

          ขอให้การฟื้นฟูจิตใจและการประชุมใหญ่คณะธรรมทูตไทยครั้งนี้ รวมถึงการเลือกตั้งอธิการเจ้าคณะธรรมทูตไทยของพวกเรา เป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า เป็นไปเพื่อความดีส่วนรวมของคณะฯ และของพระศาสนจักรท้องถิ่นทุกแห่งที่คณะธรรมทูตไทยเข้าร่วมพันธกิจประกาศข่าวดี  เพื่อให้พันธกิจ “ประกาศข่าวดีแห่งความรักของพระเจ้า” สัมผัสจิตใจของผู้คนที่พวกเราปฏิสัมพันธ์กับพวกเขา ให้พวกเขาเชื่อมิใช่เพียงว่ามีพระเจ้าเท่านั้น และทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ  แต่เชื่อด้วยว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าองค์ความรัก และทรงพระเมตตาหาขอบเขตมิได้ เช่นเดียวกับพวกเราทุกคน  อาแมน

admin@admin.com

About Author

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Uncategorized

เสกป่าศักดิ์สิทธิ์เขตศูนย์แม่จัน

        คุณพ่อรชตะ ประทุมตรีเจ้าอาวาสวัดนักบุญสเตเฟน แม่จัน เสกสุสาน ป่าศักดิ์สิทธิ์ ตามหมู่บ้านบนดอย เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 23 พ.ย. 2014 ที่ผ่านมา วันเดียว 3 หมู่บ้าน คุณพ่อมีหน้าที่ดูแลทั้งหมด
Uncategorized

พิธีบวชพระสงฆ์ใหม่ที่ประเทศกัมพูชา

       เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2014 ที่ผ่านมาพี่น้องคาทอลิกชาวกัมพูชามีความปิติยินดียิ่ง ที่พวกเขาได้พระสงฆ์ใหม่อีกหนึ่งคน ซึ่งเป็นคนกัมพูชา พิธีบวชพระสงฆ์ของคุณพ่อ ยอแซฟ มวง รัวส์ จัดขึ้นที่มิสซัง บัดดอมบอง โดยมีพระสังฆราชโอลิเวียร์ เป็นประธานในพิธี {besps}2014/rosordination{/besps}