ซิสเตอร์ เอลีซาเบธ พรทิพย์ แก้วกิ่ง

 ซิสเตอร์คณะผู้รับใช้ฯ ร่วมงานคณะธรรมทูตไทย ในประเทศกัมพูชา   อธิการคณะผู้รับใช้ฯ และตัวแทนนักบวชหญิงที่ปรึกษาคณะTMS ในกัมพูชา

       พื้นที่งานและกิจกรรมที่ได้ทำได้เข้าพื้นที่งานธรรมทูตตั้งแต่ ปี 1998 ปัจจุบันได้รับมอบหมายดูแล 3 หมู่บ้าน ดังนี้

1. วัดแม่ในเขตหมู่บ้าน กอมปงโรเต๊ะ รับผิดชอบเรื่องพิธีกรรม กลุ่มเยาวชน และดูแลเด็กนักเรียนในศูนย์ของวัด (เด็กกำพร้า, เด็กยากจน และเด็กมีปัญหา)
2. วัดเปรก สเบอว ใ นหมู่บ้านเปรก สเบอว ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับงานอภิบาลของวัด เรื่องพิธีกรรม การเยี่ยมชาวบ้าน ติดตามโครงการช่วยเหลือผู้ยากจน ดูแลกลุ่มเยาวชน และสอนคำสอน เตรียมครูคำสอน และผู้นำเด็กเล็ก
3. วัดมะเนียว ในหมู่บ้านมะเนียว ดูแลโรงเรียนอนุบาล ซึ่งเพิ่งเปิดเมื่อปี 2004

สภาพกลุ่มคริสตชน
วัดเปรก สเบอว มีชื่อวัดว่า “วัดครอบครัวศักดิ์สิทธิ์” สร้างเมื่อปี 2006 มีครอบครัวคริสตชนประมาณ 50 ครอบครัว ส่วนมากอพยพมาจากหมู่บ้าน กอมปงโก หลังสมัยเขมรแดง ไม่มีคริสตชนเลย แต่มีผู้กำลังเรียนคำสอนอยู่ทุกวันอาทิตย์ กลุ่มเด็กเล็ก 40 คน เด็กโต 53 คน ปัสกาปี 2008 ที่ผ่านมา มีเยาวชนรับศีลล้างบาป 5 คน รับศีลมหาสนิทและศีลกำลัง 4 คน
ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เหลือพระสงฆ์ดูแลเพียงองค์เดียว แต่มีเขตวัดถึง 7 แห่ง จึงทำให้หลายวัดไม่มีมิสซาใน
วันอาทิตย์ แต่ซิสเตอร์ได้ช่วยในการชุมนุมวันอาทิตย์ นำสวดภาวนา สอนคำสอนผู้นำในการนำสวด และช่วยแบ่งปันพระวาจา บางครั้งก็อาจมีแขกจากต่างประเทศมาเยี่ยมหมู่บ้านบ้าง ซึ่งถ้ามาตรงวันอาทิตย์ และมีพระสงฆ์มาด้วย ก็จะเชิญให้ถวายมิสซาให้ชาวบ้าน ซึ่งก็จะมีทั้งภาษาฝรั่งเศส อิตาเลียน และอังกฤษ ส่วนซิสเตอร์ ก็จะช่วยแบ่งปันพระวาจา (เทศน์) เป็นครั้งคราว แม้จะต่างภาษาและมีบรรยากาศแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกัน

ลักษณะความเชื่อ
ในหมู่บ้านที่มีคริสตังอยู่ เท่าที่มองเห็นภาพก็จะเป็นดังนี้คือ
– อายุ 55 ปีขึ้นไป มีความเชื่อค่อนข้างดี เพราะเป็นคริสตังเดิม
– 30 ปีขึ้นไป มีความเชื่อไม่ค่อยมั่นคง เพราะรับศีลล้างบาปตอนเล็ก แต่ไม่ได้เรียนคำสอนเลย เพราะสงคราม จนถึงทุกวันนี้ พวกกลุ่มนี้ ก็ยังไม่ได้รับศีลกำลัง และไม่เข้าวัดวันอาทิตย์ด้วย
– เยาวชน ค่อนข้างใช้ได้ เพราะใช้เวลาในการเรียนคำสอนเป็นเวลาหลายปี 4-5 ปี

อุปสรรคที่พบในการทำงาน
1. คริสตชนใหม่ และกลุ่มที่รับศีลล้างบาปตั้งแต่เด็กๆ คืออายุประมาณ 30 ปี ขึ้นไป ยังเชื่อในเรื่องผีสางเทวดา หรือติดอยู่ในระดับประเพณีที่ทำต่อๆ กันมา กลุ่มนี้มีผลต่อเยาวชนหลายคน ที่ประพฤติตนแล้ว ทำให้เยาวชนเกิดความสงสัยในความเชื่อ และการเป็นคริสตชนที่ดี
2. ผู้ใหญ่ ไม่มีเวลามาเรียนคำสอนเพิ่มเติม เพราะยุ่งกับการทำมาหากิน เลี้ยงดูครอบครัว

งานด้านคำสอน
ทุกวันอาทิตย์ จะมีกิจกรรมก่อนมิสซาคือ 14.30 – 15.30 สอนคำสอน 15.30 – 16.00 หัดขับร้อง และ 16.00 มิสซาบูชาขอบพระคุณ ที่วัดเปรก สเบอว มีกลุ่มสอนคำสอน 4 กลุ่ม ซิสเตอร์รับผิดชอบกลุ่มที่เตรียมตัวรับศีลล้างบาป และมีเยาวชนของวัด ที่ถือได้ว่า เป็นกำลังสำคัญของวัด กับครูสอนคำสอน จะมีการประชุมประเมินผลอย่างน้อย 2 เดือนครั้ง และมีการอบรมเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระคัมภีร์ มีสัมมนาร่วมกัน ซึ่งจะดูเวลาว่างของเยาวชนเป็นหลัก เพราะส่วนมากอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และทุกคนสมัครใจช่วยวัด

อุปสรรคที่พบ
มีเยาวชนบางคน ไม่ค่อยมีเวลาในการเตรียมสอนคำสอน เพราะต้องเรียนในส่วนของตนเองด้วย และความรู้ด้านพระคัมภีร์น้อย แต่ละคนมีโอกาสช่วยสอนคำสอนได้เพียง 2-3 ปีก็ต้องไปเรียนต่อที่พนมเปญ ทางวัดก็ต้องฝึกเด็กขึ้นมาใหม่อีก ไม่มีผู้ใหญ่สมัครเป็นครูสอนคำสอนเลย

งานกิจกรรมกลุ่มต่างๆ ของวัด
1. กลุ่มสงเคราะห์ของวัด
เป็นกลุ่มที่ช่วยงานวัด ในด้านเมตตาจิต การช่วยผู้ป่วย คนยากจน เด็กๆ ที่มีปัญหาครอบครัวจะมีการประชุมทุกวันอาทิตย์ หรือทุกครั้งที่มีปัญหาเร่งด่วน กลุ่มนี้ถือว่าเป็นมือขวาของคุณพ่อเจ้าอาวาสเพราะบางครั้ง ต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนพระสงฆ์ในการติดต่อกับทางราชการด้วย


2. กลุ่มเยาวชน
เป็นกลุ่มที่เป็นกำลังสำคัญของวัด ที่เปรก สเบอว มีเยาวชนประมาณ 47 คน ส่วนหนึ่งเป็นครูคำสอน เตรียมพิธีกรรมสำหรับวันอาทิตย์ บางคนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการของวัดด้วยกลุ่มเยาวชน จะมีการประชุมทุกวันอาทิตย์ หลังมิสซา คือ เวลา 17.00 – 18.30 แต่ละอาทิตย์จะมีกิจกรรมสลับกันไป เช่น

อาทิตย์ที่ 1 เรียนและอ่านพระคัมภีร์ หรือประวัตินักบุญร่วมกัน มีอบรมพิเศษ
อาทิตย์ที่ 2 เยี่ยมเยียนผู้ป่วย คนชรา ทำความสะอาดบ้านผู้ยากไร้
อาทิตย์ที่ 3 หัดขับร้อง หัดระบำตามประเพณี
อาทิตย์ที่ 4 ประเมินผล แบ่งปันประสบการณ์
(กิจกรรมเหล่านี้ จะเปลี่ยนไปบ้าง ตามกาละเทศะ หรือตามเทศกาล)


      ในทุกปี จะมีการประชุมระดับเขตวัด คือ ทุกหมู่บ้าน มารวมกัน ในทุก 2 ปี จะมีการประชุมระดับมิสซัง และทุก 3 ปีจะมีการชุมนุมเยาวชนระดับประเทศ
กิจกรรมเสริมสำหรับเยาวชนอีกอย่างคือ การเตรียมตัวรับศีลสมรส และเตรียมเข้าสู่ชีวิตครอบครัว ทุกอาทิตย์ก่อนมิสซา จะมีเยาวชนทั้งคริสต์และพุทธ มารวมกันเพื่อรับการอบรมจากหลายหมู่บ้าน ทั้งนี้เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่พร้อมของวัยรุ่นมาก

อุปสรรคที่พบ
      เยาวชนส่วนหนึ่ง จะอยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่ไม่มีเวลาอบรมลูก เยาวชนบางคนเที่ยวเตร่ ดื่มสุรา ได้เสียกันในวัยเรียน ไม่เข้าใจการใช้ชีวิตครอบครัว ขาดการเตรียมตัวที่ดี ทำให้หลายคนต้องละทิ้งการเรียน ตั้งแต่ชั้นมัธยมต้น

งานด้านการศึกษา
      ซิสเตอร์ได้รับผิดชอบดูแลโรงเรียนอนุบาล ในหมู่บ้านมะเนียว ซึ่งไกลจากวัดศูนย์กลางอภิบาลประมาณ 15 กิโลเมตร โรงเรียนแห่งนี้เปิดเมื่อปี 2004 มีนักเรียนประมาณ 60 คน ครู 3 คน เริ่มจากแบ่งตัววัดหลังเก่า ซึ่งเป็นไม้ ใช้ครึ่งหนึ่งเป็นห้องเรียน อีกครึ่งหนึ่งเป็นวัด หลังจากสอนได้ 3 ปี ได้รับงบช่วยเหลือจากอังกฤษและอิตาลี สร้างเป็นอาคาร 3 ห้องเรียน ใช้ 2ห้องสำหรับสอนเรียน และอีกห้องหนึ่งเป็นวัด

         สภาพคริสตังในหมู่บ้านแห่งนี้ เป็นคริสตังใหม่ล้วนๆ ความเชื่อจึงไม่ค่อยหยั่งรากลึก ดังนั้นจึงถูกกระแสสังคมพัดพาหายไปเกือบหมด จากรุ่นแรกที่รับศีลล้างบาป 29 คนในปี 1999 ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 8-10 คนเท่านั้นที่มาวัด อีกทั้งหมู่บ้านนี้มีการช่วยเหลือจากองค์กรภายนอก บางคนก็ไปเป็นคริสเตียน เพราะได้รับความช่วยเหลือ บางคนเข้าใจผิดว่า การเป็นคริสตชน ทำให้มีสิทธิพิเศษเพื่อรับการช่วยเหลือ มาเรียนคำสอนเพราะหวังสิ่งอื่นๆ เมื่อไม่ได้ก็หยุดไป จากสภาพเช่นนี้ จึงได้จัดตั้งโรงเรียนอนุบาลนี้ เพราะ
1. เป็นความต้องการของชุมชน ที่อยากจะมีโรงเรียน
2. เป็นสะพานเชื่อมระหว่างวัด กับชุมชน และใช้เป็นเครื่องมือประกาศข่าวดี เด็กรุ่นแรกที่จบไป ปัจจุบันอยู่ชั้น ป.2 ก็ยังมีความสัมพันธ์กลับมาเล่น และร่วมกิจกรรมของวัด ในวันอาทิตย์ เพราะเขารักโรงเรียนของเขา
         การมีส่วนร่วมจากพ่อแม่ผู้ปกครองคือ เริ่มแรกเก็บค่าเล่าเรียนเดือนละ 20 บาท จนปัจจุบัน เก็บคนละ 50 บาท แต่มีเพียง 10% เท่านั้น ที่จ่ายอย่างสม่ำเสมอจนครบ

ความคาดหวัง
       จากประสบการณ์การทำงานกับชาวบ้าน และเยาวชน ที่มีใจกระหายจะรู้จักพระคริสตเจ้า และอยากจะดำเนินชีวิตตามความเชื่อที่ถูกต้อง ทำให้ซิสเตอร์ได้ตระหนักว่า “ข้าวที่จะเก็บเกี่ยวมีมาก แต่คนงานมีน้อย”
        ซิสเตอร์รู้สึกมีความหวัง และอยากจะทำอะไรอีกมากมายในดินแดนแห่งนี้ เป็นต้นสำหรับเยาวชน ที่ถูกทอดทิ้ง มีปัญหาในครอบครัว ซิสเตอร์รู้สึกว่าพวกเยาวชนมีความกระหายที่อยากจะเรียนรู้อะไรมากมาย แต่ใครล่ะที่จะช่วยพวกเขา?
ดังนั้นซิสเตอร์รู้สึกว่า พระเจ้าทรงนำทางชีวิต เพื่อให้เป็นเครื่องมือที่แท้จริงของพระองค์ และเห็นถึงการประทับอยู่ของพระองค์ จากบรรดาคนยากจน เยาวชน และเด็กๆ เหล่านั้นมากซิสเตอร์หวังว่า พระเจ้าจะยังคงใช้ให้ทำงานในดินแดนธรรมทูตต่อไปอีก

admin@admin.com

About Author

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ซิสเตอร์ เอลีซาเบธ พรทิพย์ แก้วกิ่ง

ซิสเตอร์ เอลีซาเบธ พรทิพย์ แก้วกิ่ง ปี 2012-ปัจจุบัน ณ เสียมราบ

      ได้เปิดบ้านใหม่ที่เสียมเรียบในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีซิสเตอร์สุขรินทร์ และผู้ฝึกหัดชาวเขมรอยู่ด้วยกันในหมู่คณะ มีหน้าที่หลักในการสอนคำสอน และเยี่ยมเยียนชาวบ้าน และทุกวันพุธไปเยี่ยมนักโทษที่เรือนจำ มี 3 หมู่บ้านที่ช่วยรับผิดชอบ และมีหน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ช่วยเจ้าวัดต้อนรับแขกจากต่างประเทศ {gallery}pastoralandevagilization/siemrieab{/gallery}