เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2022 นับเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่ง นับตั้งแต่มีการการประกาศพระวรสารในประเทศกัมพูชา ผมขอเริ่มต้นด้วยความกตัญญูคุณ ให้กับบรรดาธรรมทูตจากหลายประเทศ นับตั้งแต่มีธรรมทูตเข้ามาคนแรกในปี 1755 จากนั้น ผู้มีบทบาทหลักก็เป็นคณะมิสซังต่างประเทศกรุงปารีส (MEP)ซึ่งได้เชื่อมพระศาสนจักรกัมพูชาไว้กับมิสซังสยามในอดีต หลังจากผ่านช่วงระยะเวลาเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งมีผลต่อนิติภูมิศาสตร์ ได้มีการแยกเป็นมิสซังกัมพูชา ในปี 1850 ซึ่งมีพื้นที่ไปถึงเวียดนามใต้ในปัจจุบัน เวลานั้นอยู่ในยุคอาณานิคมฝรั่งเศส มาเปลี่ยนชื่อเป็น “มิสซังพนมเปญ”(Apostolic Vicariate of Phnom Penh)ในปี 1924 และต่อมาในปี 1968 ก็ได้ถือกำเนิดมิสซังใหม่อีกสองแห่งคือ มิสซังบัดดำบอง(พระตะบอง) และมิสซังกำปงจาม ซึ่งมีสถานะเป็นเขตปกครองโดยหัวหน้าสันตะสำนัก (Apostolic Prefecture)
ปัจจุบันเหลืออยู่ไม่กี่ประเทศที่ปกครองโดยหัวหน้าสันตะสำนัก(Apostolic Prefect) อย่างน้อยก็เหลือในกัมพูชานี่แหละครับ ดังนั้น จึงบ่งบอกว่าที่นี่เป็นประเทศมิสซังหรือพระศาสนจักรท้องถิ่นยังอ่อนเยาว์มาก เล็กกว่ามิสซังในประเทศลาวเสียอีก เพราะมิสซังทั้งสี่แห่งในประเทศลาว ยังมีบิชอปเป็นชาวพื้นเมืองของตนเอง
มิสซังในประเทศกัมพูชาแต่เดิมมีบิชอปชาวกัมพูชาในสองเขตมาก่อนหน้านี้แล้ว คือในช่วงก่อนยุคเขมรแดง คือ มิสซังบัดดำบอง มีพระคุณเจ้า เปาโล เทพ อิมสุธา(Tep Im Sotha 1934-1975) เป็นหัวหน้าจากสันตะสำนัก ซึ่งเป็นสงฆ์พื้นเมืองลูกครึ่ง เป็นครั้งแรกในระหว่างปี 1968-1975 และต่อมาก่อนเขมรแดงยึดกรุงพนมเปญ ได้มีการบวชพระคุณเจ้า ยอแซฟ ชัมมา ซาละ(Chhmar Salas 1937-1977) เป็นบิชอป ผู้แทนพระสันตะปาปา(Apostolic Vicar)ซึ่งเป็นสงฆ์พื้นเมืองคนแรก ปกครองช่วงสั้นๆระหว่างปี 1975-1977 แต่ท่านก็ได้มรณภาพไปในช่วงเขมรแดง และนับตั้งแต่นั้นมา พระศาสนจักรในประเทศกัมพูชาไม่มีพระสงฆ์พื้นเมืองท่านใดเป็นผู้นำระดับมิสซังอีกเลย โดยเฉพาะมิสซังกำปงจาม หัวหน้าจากสันตะสำนักที่ดูแล คนแรกคือ พระคุณเจ้าอังเดร เลอแซฟ ชาวฝรั่งเศส(MEP) ต่อมาก็เป็น พระคุณเจ้าแอนโทนี่ ซามี ชาวอินเดีย(MEP) จากนั้นในระหว่างรอนั้น ก็มี คพ.บรูโน โกสม์(MEP) เป็นผู้รักษาการณ์ราว 3 ปี
สันตะสำนัก ได้ประกาศผู้สืบทอดตำแหน่งหัวหน้าจากสันตะสำนัก ดูแลเขตมิสซังกำปงจาม อย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2022 และทางมิสซังได้ทำพิธีแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ในวันฉลองน.เทเรซา แห่งพระกุมารเยซู ซึ่งเป็นองค์อุปถัมภ์ของประเทศมิสซัง (1 ตุลาคม 2022) โดยมีพระสมณทูต พอล ชางอินนำ มาเป็นผู้ทำพิธีมอบ มีบิชอปที่เข้าร่วมได้แก่ พระคาร์ดินัลหลิ่ง(เวียงจันทร์) และพระคุณเจ้า แอนดรู สุขสวัสดิ์(ปากเซ)จากลาว มีพระคุณเจ้าโอลีเวียร์(พนมเปญ) และพระคุณเจ้ากีเก้(บัดดำบอง) มีอดีตพระคุณเจ้าแอนโทนีและคพ.บรูโน มาร่วม พร้อมกับพระสงฆ์ประมาณ 60 องค์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธรรมทูต และพระสงฆ์พื้นเมืองทั้งประเทศ อีก 9 ท่านที่มีอยู่ในประเทศนี้ เข้าร่วมพิธีแต่งตั้งอย่างพร้อมหน้า นอกจากนี้ มีผู้แทนกระทรวงศาสนาของทางจังหวัด มาร่วมงานในพิธีกรรมครั้งนี้ด้วย พร้อมกับบรรดานักบวชต่างๆ และสัตบุรุษพันกว่าคน มาร่วมในพิธีนี้อย่างเนื่องแน่น
สำหรับประวัติและการทำงาน ของพระคุณเจ้า เปโตร ซวน ฮังลี(Pierre Soun Hangly) ผมใกล้ชิดกับท่านพอสมควร ท่าน เกิดวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1971 จากหมู่บ้านโปทม จ.กอนดาล ซึ่งอยู่ในเขตวัดปกครองของผม ผมเจอท่านครั้งแรก ตอนเป็นบราเดอร์เณรใหญ่ที่บัดดำบอง ตอนนั้น ผมเป็นเณรใหญ่คู่แรก(กับ คพ.คำดี ทองมาก) เข้าไปสัมผัสงานธรรมทูต เมื่อปี 1998 ท่านเป็นคนสุภาพเรียบร้อย ท่านบวชปีเดียวกับผม(9/12/2001)ช้ากว่า 6 เดือน… เริ่มงานกับคพ.โอลีเวียร์(ปัจจุบันเป็นบิชอป) เปิดพื้นที่งานธรรมทูตที่ จ.กำโปต กับ จ.ตาแก้ว จากนั้นไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส จบปริญญาโทชีวิตฝ่ายจิตที่สถาบันคาทอลิกที่ปารีส ตอนนั้นผมมีโอกาส ได้ไปเยี่ยมท่านตอนปิดเทอม ระหว่างเรียนอยู่ที่โรมด้วย ปลายปี 2013 ผมกลับมาทำงานต่อในมิสซังพนมเปญ เริ่มงานเป็นแชนเซลเลอร์(เลขาฯ)ของมิสซัง ท่านกลับมาช้ากว่าผมหน่อย แต่เริ่มงานทันทีในปี 2016 ได้เป็นอุปสังฆราช และดูแลเขตวัดใหม่ ที่พนมเปญทไม ทำให้เราทำงานด้วยกันตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ในฐานะทีมที่ปรึกษาบิชอป ลักษณะความเป็นกัมพูชาของท่าน ช่วยงานมิสซังได้มาก โดยเฉพาะในเรื่องติดต่อข้องกับเจ้าหน้าที่ผู้หลักผู้ใหญ่ทางบ้านเมือง พระคุณเจ้าโอลีเวียร์เองก็เสียดายท่านอย่างมาก แต่เพื่อพระอาณาจักรของพระเจ้า พระคุณเจ้าโอลีเวียร์ถือว่า ท่านฮองลี เป็นของขวัญที่มีค่ามาก ที่มิสซังพนมเปญ ได้มอบกับมิสซังกำปงจาม
มิสซังกำปงจาม ทางเหนือติดลาว ทางตะวันตกและใต้ ติดเวียดนาม มีความหลายหลาก เพราะมีชนเผ่าตามภูเขา ชาวเวียดนามและกัมพูชาปะปนกัน คริสตังทั้งมิสซัง มีจำนวนราวๆ 3000 คน กับพระสงฆ์พื้นเมือง 4 องค์ นอกนั้นเป็นธรรมทูตจากหลายคณะเช่น MEP, PIME, Mill Hill Missionary, Yeromal missionary, KMS, Fidei Donum มีซิสเตอร์พื้นเมือง ที่สมาชิกร่วมงานของคณะธรรมทูตไทย จากคณะรักกางเขนอุบลฯ ไปช่วยฟื้นฟูคือ “ซิสเตอร์คณะรักกางเขนแห่งกำปงจาม”
พวกเรามีความยินดีกับพระศาสนจักรในมิสซังกำปงจาม ที่ได้สร้างประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งในการประกาศพระวรสาร คือ ได้มีพระสงฆ์พื้นเมือง ที่เป็นชาวกัมพูชาของมิสซังเป็นครั้งแรก ส่วนทางมิสซังพนมเปญ ก็ต้องปรับขบวนกันใหม่ เพราะเพิ่งจะโยกย้ายใหญ่ แต่ก็มีเหตุต้องขาดพระสงฆ์ไปถึงสององค์ คือ พระคุณเจ้า ฮองลี และ คพ.ดาเมียง(MEP) ที่กลับไปเป็นที่ปรึกษาของคณะ ตอนนี้ก็กำลังลุ้นอยู่ว่า เดือนมกราคม 2023 ที่จะถึงนี้ คณะธรรมทูตไทยของเรา ถึงวาระหรือยัง ที่จะมีอธิการใหญ่เป็นคนไทย และถ้าถึง เวลานั้นแล้ว ใครจะเป็นคนต่อไป กับสภาพของคณะฯที่มีอายุเท่าพระเยซูตอนสิ้นพระชนม์พอดี 33 ปี
ผมไม่กล้าคิดต่อ ปล่อยให้พระจิตเจ้าทรงนำทาง และฝากไว้ในคำภาวนาของพี่น้อง แต่หลังจากเหตุการณ์ที่พระคุณเจ้าลี ออกไปมิสซังอื่นเช่นนี้ ทำให้งานในส่วนของท่านที่เคยรับผิดชอบ ได้ถูกแบ่งไป คือ เจ้าอาวาสเขตพนมเปญทไม ก็ดึงคพ.สน คุณพ่อรุ่นเดียวกัน แต่เพิ่งย้ายมาอยู่ที่เขตกรุงตาเขมา มาดูแลไปก่อน, เรื่องอธิการบ้านเณรใหญ่ ก็คงต้องรอสรรหากันไป, ส่วนตำแหน่งอุปสังฆราช ก็ตกมาที่ผม หลังจากพยายามปฏิเสธพระคุณเจ้ามาระยะหนึ่ง… ในขณะที่หน้าที่อื่นๆ ก็ยังทำต่อไป งานนี้ไม่ลด…มีแต่เพิ่ม เหมือนพระวาจากล่าวไว้ตรงเป๊ะว่า “ผู้ที่มีมาก จะได้รับมากขึ้นจนเหลือเฟือ” (มธ 13:12) งานนี้ไม่ต้องคิดกลับไปทำงานที่ไทยแล้วครับ…
อย่างไรก็ตาม ผมต้องขอขอบคุณทุกความยินดี และกำลังใจจากพี่น้องในโอกาสนี้ด้วย ผมขอทำงานที่ได้รับที่นี่อย่างเต็มที่ จนกระทั่งสามารถกล่าวตามพระวาจา ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าเคยตรัสว่า “ท่านทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน เมื่อท่านได้ทำตามคำสั่งทุกประการแล้ว จงพูดว่า `ฉันเป็นผู้รับใช้ที่ไร้ประโยชน์ เพราะฉันทำตามหน้าที่ที่ต้องทำเท่านั้น’ ” (ลก 17:10) และขอพลังและการสนับสนุนทุกอย่าง แด่พระคุณเจ้าใหม่ของพระศาสนจักรน้อยๆแห่งนี้ด้วยนะครับ