ในช่วงนี้ เราไตร่ตรองเป็นพิเศษ เรื่องซีน๊อด(Synod) การก้าวไปด้วยกัน เป็นเรื่องที่แทรกซึมไปทุกกิจกรรมของพระศาสนจักร อย่างน้อยความคิดนี้ ทำให้เราได้พิจารณาว่า ทุกพันธกิจของเรา ได้เสริมสร้างจิตตารมณ์ของการความร่วมไม้ร่วมมือกันของพระศาสนจักรได้มากน้อยแค่ไหน
เดือนพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าที่ผ่านมา เราคิดถึงความรักของพระเยซูเจ้าในแบบพิเศษ คณะธรรมทูตเรา โดยเฉพาะในหมู่คณะกัมพูชา มีสมาชิกร่วมงาน 2 คณะที่เกี่ยวข้องกับหัวใจคือ คณะพระหฤทัยแห่งกรุงเทพฯ และ คณะผู้รับใช้ดวงหทัยพระแม่มารีย์ คณะนักบวชทั้งสอง ร่วมงานธรรมทูตอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เริ่มแรก แม้แต่ละคณะจะมีความต้องการสมาชิกที่ประเทศไทยแค่ไหนก็ตาม
คณะผู้รับใช้ฯ ได้ดำเนินแผนการหากระแสเรียกไปด้วยตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมา แม้จะไม่ง่ายเลยสำหรับประเทศที่มีคาทอลิกเพียงเล็กน้อย แต่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร เพราะปัจจุบัน มีซิสเตอร์ที่เป็นชาวกัมพูชาแล้ว 2 ท่าน ส่วนคณะพระหฤทัยฯ ได้มีการเปลี่ยนแปลงสมาชิกในกัมพูชา คือ ซ.สุพัตรา โสภณ ย้ายกลับไปทำงานที่ไทย แต่ได้ส่ง 2 ท่านใหม่ มาร่วมงานที่กัมพูชาคือ ซ.บังอร มธุรสสุวรรณ และ ซ.ลาวัลย์ มาช่วยงานที่พนมเปญ คณะธรรมทูตไทย ต้องขอบคุณคุณแม่และสมาชิกของคณะมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ เพราะ การมีส่วนร่วมในงานของพระศาสนจักรสากลแบบนี้ เรียกร้องความเสียสละจากคณะฯอย่างมาก เพราะนอกจาก จะเสียสละสมาชิกมาทำงานในต่างแดนเช่นนี้แล้ว คณะฯ ยังต้องสนับสนุนงานธรรมทูตในรูปแบบ ต่างๆ อีกด้วยตามพระศาสนจักรท้องถิ่นเรียกร้อง อย่างเช่น การสนับสนุนงานด้านอบรม การศึกษา งานก่อสร้าง ฯลฯ
ในเขตพนมเปญทางเหนือของผม ส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากคณะพระหฤทัยฯ อย่างดี โดยเฉพาะ เมื่อเราพยายามก่อสร้างพระศาสนจักรขึ้นมาใหม่ เรามีกลุ่มคริสตชนใหม่เล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ห่างจากวัดใหญ่ศูนย์กลางที่พซาโตจ ไปประมาณ 20 กม. ชื่อ “หมู่บ้านเปรกตาแตน” ปัจจุบัน เราได้สร้างวัดน้อยขึ้น และ ในช่วง โควิดสองปีที่ผ่านมา เราได้ปรับปรุงพื้นที่ สร้างโรงเรียนอนุบาลขึ้นเช่นเดียวกัน วัดที่เราสร้างขึ้น ได้ถวายให้กับ พระหฤทัยของพระเยซูเจ้า และเราได้มีการฉลองเมื่อวันสมโภชพระหฤทัยที่ผ่านมา โดยมีพระคุณเจ้าโอลีเวียร์ เป็นประธาน คพ.จอห์น เปง ธรรมทูตคณะทางสายน้อย(พม่า) ทำงานอยู่ที่นี้ได้ประมาณ 3 ปี ได้เอาใจใส่ ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับชาวบ้าน เปิดโรงเรียนก่อนวัยเรียน และกิจการเมตตาในรูปแบบต่างๆ จนปัจจุบัน เรามีผู้สนใจมาเรียนคำสอน และเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2022 ที่ผ่านมา ทางวัดได้รับเข้า สมาชิกใหม่ 3 ท่าน ซึ่งเป็นผลจากการหว่านความเชื่อมากหลายปี
โดยทั่วไป กลุ่มคริสตชนใหม่ๆ มักได้รับการสนับสนุนจากหลายแหล่ง และที่นี่ก็เช่นเดียวกัน ช่วงเริ่มแรกถมดินใหม่ๆ ผมได้รับปัจจัยช่วยเหลือจากสังฆมณฑลจันทบุรี พ่อเริ่มสร้างวัด พ่อชาร์ลจากปีเม ก็ได้รับสนับสนุนจากคณะของท่านและคณะพระหฤทัยฯ รวมทั้งผู้มีใจศรัทธา และ กิจกรรมต่างๆ ทุกวันนี้ วัด วัดใหญ่ที่พซาโตจ ได้สนับสนุน ทั้งเรื่องทรัพยากรบุคคลและปัจจัย คณะกรรมการด้านสังคมฯ มักจะมาเยี่ยมเยียน คนยากจนรอบๆ บริเวณวัดเป็นประจำ และสันตะสำนัก ได้ช่วยเหลือโครงการเด็กก่อนวัยเรียน เพื่อส่งเสริมการอบรมพื้นฐาน ขอสรรเสริญและขอบคุณพระเจ้า ที่ได้ทำให้ผู้คนที่นี่เปิดใจรับข่าวดี
วันนี้ผมจะพาพี่น้องเดินทางไปจังหวัดสุดปลายแผ่นดินกัมพูชา ซึ่งอยู่ในภาคอีสาน ในเขตมิสซังกำปงจาม มีจังหวัดหนึ่ง ที่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นสวิสเซอร์แลนด์ของกัมพูชา คือ จ.มณดลคีรี จังหวัดเล็กๆ แต่มี ศักยภาพในเรื่องการท่องเที่ยว พระศาสนจักรไม่ได้เริ่มต้นจากชาวกัมพูชา แต่เริ่มจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีมากกลุ่มหนึ่งและมีที่เป็นคริสตชนด้วยคือ “ชาวปโนง” ซึ่งมีภาษาพูดเป็นของตัวเอง แต่ภาษาเขียนใช้ภาษาแขมร์ แต่ถ้าอยู่ในเวียดนาม ก็ใช้ภาษาเวียดนาม พระศาสนจักรที่นี่กำลังเติบโต ปัจจุบัน มี คพ.ฟรองซัวร์ เฮมิสดัล(MEP)และ คพ. พาน โบเรย สงฆ์พื้นเมือง ทำงานในหลายหมู่บ้านในเขตนี้
วัน ฉลองน.เปโตรและน.เปาโล ปีนี้ (29/6/2022) เป็นวันที่น่าจดจำและเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งในพระศาสนจักรกัมพูชาคือ หลังจากการประกาศพระวรสารมาหลายสิบปี เราได้พระสงฆ์พื้นเมือง ที่เป็นชาวปโนง คนแรก งานบวชนี้ ไม่ได้มีมาหลายปีแล้ว หลังจากงานบวช คพ.พร้อมพงษ์ ศรีหารัตน์(พ่อเบิร์ด)ของคณะธรรมทูตไทย และคพ.โยเซฟ(ซาเลเซียน) เมื่อสามปีที่แล้ว งานบวชนี้จัดที่วัดบ้านเกิดของคุณพ่อใหม่ คือ ที่หมู่บ้าน บูสรา ห่างจากตัวจังหวัดไปประมาณ 40 กม. งานนี้ได้มีการเชิญวัดต่างๆ จากทั่วประเทศไปร่วมงาน มีผู้ร่วมงานประมาณสักพันคน แต่ทำให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของพระศาสนจักรในประเทศเล็กๆ แห่งนี้
พระคุณเจ้าโอลีเวียร์ เป็นผู้โปรดศีลบวช โดยพระคุณเจ้ากีเก้ จากมิสซังพระตะบอง แต่พระคุณเจ้าบรูโน จากมิสซังกำปงจาม ต้องกลับไปฝรั่งเศสด่วน เพราะบิดาของท่านใกล้สิ้นลม(ปัจจุบันได้เสียไปแล้ว) เราเริ่มพิธีแห่เป็นขบวนยาวจากบ้านของบราเดอร์ ไปถึงวัด นำโดยขบวนฟ้อนรำ สัตบุรุษ บาดหลวงและบิชอป พิธีผ่านไปอย่างดีมีความหมายตามขั้นตอนพิธีกรรม แม้มีไฟดับในช่วงท้าย แต่เราเข้าใจสถานการณ์ดี เพราะเป็นเพราะหมู่บ้านห่างไกลตัวจังหวัด เพราะพ้นจากหมู่บ้านนี้ ก็เป็นป่าแล้ว
วันนี้เป็นวันที่เรารู้สึกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกัน และความเป็นครอบครัวกันอย่างแท้จริง เพราะบรรดาบาทหลวง และสัตบุรุษ มากันจากทุกทิศทุกมิสซัง เวลาเจอกัน ก็จะทักทายกันด้วยความยินดี หลังจากนี้ไป พระสงฆ์ใหม่ ก็จะถวายมิสซาแรก ส่วนบรรดาแขกเหรือที่มา ส่วนใหญ่ก็จะถือโอกาสนี้ ไปเที่ยวพักผ่อนด้วยกัน เพราะจังหวัดนี้อยู่สุดขอบอีสานตอนล่างของกัมพูชา ที่มีธรรมชาติสวยงาม
ผมภาวนาต่อให้คุณพ่อใหม่ ไม่เพียงแต่วันแห่งความชื่นชมนี้ แต่ให้เขาได้รักษากระแสเรียกนี้ จนสุดสิ้นชีวิตของเขา เราต้องภาวนาให้พระสงฆ์ทุกองค์ สนับสนุนท่านด้วยความรักและแสดงออกด้วยความเหมาะสม และสนับสนุนกระแสเรียก โดยเสียสละบุตรหลานด้วยใจยินดี ให้เขาเข้าบ้านเณรหรืออาราม ด้วยสำนึกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันในพระศาสนจักรของเราทุกคน